919-9218
Sometimes update, sometimes not. I'll be right back some day, or not?
วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
ผัก 7 ชนิด กินมากไปอาจทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564
Banyong Pongpanich FB
ข้อเสนอที่ถูกมองข้าม…
ในช่วงต้นเดือน ธันวาคม 2556 เมื่อแปดปีก่อน ช่วงที่กลุ่มกปปส. พยายามประท้วงรัฐบาลในเวลานั้นอย่างเต็มที่จนมีความหวั่นวิตกว่าจะเกิดความวุ่นวายใหญ่หลวง อาจเกิดนองเลือดถึงขั้นสงครามกลางเมือง
ผมได้พยายามจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ โดยเขียนบทความ(ที่ยาวที่สุดในชีวิต) ช่วยวิเคราะห์ความเข้าใจเกี่ยวกับ”ระบบทักษิณ”ที่คนส่วนหนึ่งเกลียดกลัวและเกลียดชัง แต่อีกกลุ่มหนึ่งนิยมชมชอบ ด้วยหวังว่าความเข้าใจที่ดีจะนำมาสู่การคลี่คลายสถานการณ์ด้วยดี มีการปฏิรูป ใช้โอกาสจากความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการพัฒนาะรบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
การณ์ปรากฎว่า ความพยายามของผมไม่เป็นผล สถานการณ์ไม่ดีขึ้น จนในที่สุด ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น คณะทหารก็ได้ยึดอำนาจการปกครอง และก็ไม่เคยปฏิรูปใดๆในแนวทางที่ควร ไม่เคยทำตามคำสัญญา จนล่วงเวลามาได้ถึงกว่าเจ็ดปีครึ่งที่ประเทศถอยหลังเข้าสู่ระบอบไร้ประชาธิปไตยอย่างรุนแรงกว่าเดิม(ตามความเห็นของหลายฝ่าย)
มาบัดนี้ สังคมมีความแตกแยกรุนแรง จนถึงจุดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีความวุ่นวายใหญ่หลวงอีกครั้ง ในขณะที่โลกก็กำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสุขภาพ และวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งจะตามมาด้วยวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมในไม่ช้า
ผมขอเอาบทความขนาดยาวฉบับเดิมมาให้อ่านอีกครั้ง เพื่อสะท้อนถึงสาเหตุที่ทำให้เรามาอยู่ในจุดนี้ และถ้าจะเป็นประโยชน์บ้างและได้รับการสนับสนุนเรียกร้องเพียงพอ ผมอาจจะเริ่มเขียนบทความวิเคราะห์ ถึง “ระบอบประยุทธ” ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ 22พฤษภาคม 2557 เรื่อยมาทั้งในช่วงเผด็จการคสช. ช่วงผลัดแผ่นดิน มาจนช่วงประชาธิปไตยบิดเบี้ยวภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับบิดเบือนปัจจุบัน
ถ้าเพื่อนคนใดเห็นด้วยว่าความพยายามอย่างนั้นอาจจะเป็นประโยชน์บ้าง ก็โปรดแสดงความเห็นด้วยการส่งข้อความมานะครับ
"ข้อเสนอต่อประเทศไทย".ตอนที่1...ปูพื้นเรื่องปัญหา. (1 ธค. 2556)
วันนี้ได้รับเชิญให้ไปบันทึกเทปรายการ"ทางออกประเทศไทย" ของสถานี ThaiPBS ที่จะใช้ออกรายการในวันจันทร์ที่ 2 ธค.นี้ ในเวลา 20.20น. ประมาณครึ่งชั่วโมง
ไปถึงก็เจอ Jackpot พอดี เพราะมีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายพัน เข้ามาในสถานีนัยว่าต้องการเจรจา ให้สถานีเปลี่ยนไปถ่ายทอด บลูสกาย และมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ห้ามออกข่าวรัฐบาล กับขอเข้าควบคุมmonitor การออกรายการตลอดเวลา ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร
กับคำถามว่า ในฐานะนักธุรกิจ ผมมีข้อเสนอแนะต่อสถานะการณ์อย่างไร ผมต้องออกตัวว่า ขอพูดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เพราะสิ่งที่จะพูด นักธุรกิจเค้าไม่พูดกัน เนื่องจากคนอาจจะไม่ชอบทั้งสองฝ่าย แถมไม่มีประโยชน์กับผู้พูด เรียกว่า น่าจะขาดทุน ผิดวิสัยนักธุรกิจ
แน่นอนครับ ผมคงไม่เก่งพอที่จะมีข้อเสนอแนะแบบเจ๋งๆ ทำแล้วแก้ปัญหาได้หมดในทันที แต่ผมมีแนวคิดบางอย่างอยากให้พิจารณากัน
ก่อนอื่น ผมขอตั้งคำถามก่อนว่า เรารู้หรือยังว่า พื้นฐานความแตกแยกใหญ่หลวงครั้งนี้ คืออะไร มีพัฒนาการความเป็นมาอย่างไร
ทำไมคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งหลายล้านคน ถึงลุกขึ้นมารวมตัวกัน มุ่งมั่นต่อต้าน ประกาศก้อง "เราไม่เอาระบอบทักษิณ" ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่(ตามการสังเกตของผม) ได้แก่ คนที่มีฐานะดี หรือค่อนข้างดี มีการศึกษาตามระบบค่อนข้างสูง(หรืออย่างน้อยก็เข้าใจว่าตนการศึกษาสูง) เป็นคนชั้นบน และชั้นกลางที่เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้ดีถ้าเป็นนักวิชาการ ก็เป็นประเภทอนุรักษ์นิยม ถ้าเป็นข้าราชการก็เป็นพวกที่ไม่ได้รับการนับเข้าเป็นพวก(จากผู้มีอำนาจปัจจุบัน) หรือถูกรังแก ถ้าเป็นนักธุรกิจ ก็เป็นพวกที่ไม่ได้อาศัยอำนาจรัฐ หรือเข้าไม่ถึงอำนาจรัฐ
แต่ขณะเดียวกัน อีกกลุ่มใหญ่ (ที่อาจมีมากกว่าด้วยซำ้) กลับยกย่องเทิดทูน แทบจะสละชีพเพื่อปกป้อง ถือว่าดร.ทักษิณ เป็นตัวแทนของระบบประชาธิปไตยเลยทีเดียว พวกนี้ มักเป็นคนรากหญ้า คนที่ปกติมีโอกาสทางศก.น้อย ถ้าเป็นนักวิชาการก็มักเป็นพวกหัวก้าวหน้า ไม่ชอบความเหลื่อมลำ้ เป็นนักประชาธิปไตย ถ้าเป็นนักการเมือง ข้าราชการ หรือนักธุรกิจ ก็จะเป็นพวกที่ได้รับการนับเป็นพวกจากผู้มีอำนาจ หรือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากระบบ "พรรคพวกนิยม"
ส่วนสาเหตุที่เห็นต่าง หลายคนในกลุ่มแรกคงอยากตอบอย่างมั่นใจด้วยกำปั้นทุบดินเลยว่า ก็เพราะเงิน เพราะโง่ เพราะโดนหลอกน่ะซี ขณะที่กลุ่มหลัง ก็มองกลุ่มแรกว่า เพราะผลประโยชน์ เพราะความได้เปรียบอย่างไม่ยุติธรรม จึงพยายามรักษาสถานะ"อำมาตย์"ไว้ มันง่ายๆอย่างนี้เลยหรือ ประเทศจึงแยกเป็นสองเสี่ยง
ผมไม่ใช่ปราชญ์ ไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ ทั้งไม่ใช่นักวิชาการ แต่จะขอเสนอทฤษฎี ความเป็นมาของความขัดแย้งนี้ โดยจะใช้หลักเศรษฐศาสตร์นำการวิเคราะห์ เพื่อหวังว่าถ้ามีการนำไปวิเคราะห์วิจัยต่อ จนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถาวรได้
ผมขอมองย้อนหลังไป สิบสามปี เมื่อต้นปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง และ พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อดูพัฒนาการของความแตกแยก และพยายามเข้าใจคำว่า "ระบอบทักษิณ"
ก่อนหน้านั้น ความแตกต่าง แตกแยกย่อมมีอยู่บ้างแล้ว แต่อาจไม่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม ไม่รุนแรงพอที่จะเป็นปัญหาใหญ่ ผมขอแบ่งกลุ่มประชาชนออกเป็นกลุ่มตามมิติสามด้าน ดังนี้
- มิติความเหลื่อมลำ้ คือกลุ่มที่มีรายได้และความมั่งคั่งสูง กับ กลุ่มยากจน ความจริงถ้าวัดตามความยากจน ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา คนไทยที่ยังอยู่ภายใต้นิยามยากจนตามสหประชาชาติ ลดลง อย่างมาก จากกว่าร้อยละ 42 เหลือเพียง ร้อยละ 9.6 แต่ด้านความเหลื่อมลำ้ ที่วัดจากค่าสัมประสิทธิ์ GINI ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ความเหลื่อมลำ้ที่วัดจากรายได้ของคน ที่เป็นร้อยละ20 บน กับ ร้อยละ20 สุดท้าย แตกต่างกันถึง 13 เท่า คนร้อยละ 1 แรก มีรายได้ถึง 13% ของรายได้ทั้งหมด ตัวเลขเหล่านี้แสดงความเหลื่อมลำ้ที่สูงมาก ถึงแม้จะคงที่ หรือไม่เลวลง แต่เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆแล้ว ทำให้เกิดปัญหา ดังผมจะวิเคราะห์ต่อไป
- มิติด้าน ถิ่นที่อยู่ (Urbanization) ถ้าสังเกตุทั่วประเทศ จะเห็นการขยายตัว และการอพยพเข้าสู่เขตเมืองอย่างมาก ในทุกๆจังหวัดทั่วประเทศ ตามลักษณะศก. ที่ปรับตัวจาก เกษตรกรรม สู่อุตสาหกรรม การพาณิชย์ และบริการ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เรามีแรงงานภาคเกษตร อยู่ 14.5 ล้านจาก 30 ล้าน คิดเป็นเกือบครึ่ง แต่ปัจจุบันเราก็ยังคงมี 14.5 ล้าน จาก 39 ล้าน ลดลงเหลือแค่ 37% แถม อายุเฉลี่ยเกษตรกร เพิ่มจาก 42 เป็น 50 ปี ใน 16 ปี ซึ่งหมายถึงว่า คนรุ่นใหม่แทบไม่ได้เป็นเกษตรกรเลย กลับเข้าไปเรียนในเมืองแล้ว กลายเป็นแรงงานไร้ทักษะในเมือง หรือทำงานอิสสระนอกระบบ
- มิติที่สาม คือ มิติด้านการศึกษา ในประเทศเรา ความเหลื่อมลำ้ในด้านโอกาสที่จะได้รับการศึกษาในคุณภาพใกล้เคียงกัน มีสูงมากมานานแล้ว จริงอยู่ คนได้รับการศึกษาเป็นจำนวนมากขึ้น อัตราการอ่านออกเขียนได้(Literacy Rate) เราสูงถึง 92.6% แต่คุณภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราก็รู้ว่าระบบการศึกษาของเราค่อนข้างล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ เคยมีคนพูดว่า "ในแง่การปกครอง คนได้รับการศึกษาบ้าง สร้างปัญหามากกว่าคนไร้การศึกษา"
ถึงตอนนี้ พอผมแยกคนออกเป็นสามมิติ มิติละสองกลุ่ม ก็คงพอจะมองออกนะครับ ว่าคู่กรณีของเราปัจจุบันนั้น "ไผเป็นไผ" พวกไหนใส่เสื้อสีอะไร ความจริงนั้น ความแตกแยกเริ่มต้นเกิด จากวิวัฒนาการทางศก.และสังคมอยู่แล้ว และเป็นกระบวนการวิวัฒนาการธรรมดา ที่เกิดขึ้นทุกแห่งตลอดเวลา มีทักษิณ หรือไม่มีทักษิณ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ตามกระบวนการเวทีต่อรองที่จะเกิดขึ้น
แล้ว"ระบอบทักษิณ" คืออะไร มาเกี่ยวข้องกับมิติเหล่านี้ได้อย่างไร ก่อให้เกิดความแตกแยกได้อย่างไร อะไรเป็นผลงาน อะไรเป็นข้อผิดพลาด แล้วเราควรจะปรับ จะรับ จะเดินหน้ากันต่ออย่างไร ไม่ให้เกิดระเบิด เกิดสงครามกลางเมือง เกิด หลายทศวรรษที่หายไปของประเทศ
ผมคงต้องขอยกยอดไปต่อพรุ่งนี้อีกแล้วครับ วันนี้คงขอแค่ฉายหนังTitle ไปก่อน เรื่องอย่างนี้ต้องว่ากันอย่างละเอียด
ได้เวลาบรรเลง Series ยาวอีกแล้วครับ
"ข้อเสนอต่อประเทศไทย"
ตอนที่2 : "ขวัญใจรากหญ้า"...บทวิเคราะห์ที่มาของปัญหา (เขียนเมื่อ...วันดีเดือด 2 ธค. 2556)
ในตอนแรก ผมได้ปูพื้นถึง ความเหลื่อมลำ้ การเข้าเมือง และความแตกต่างด้านการศึกษา สามมิติที่เป็นพื้นฐานความแตกต่าง ที่พัฒนาเป็นความแตกแยกในสังคมไทยในปัจจุบัน
จริงๆแล้ว"ความเหลื่อมลำ้"เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน การที่คนมีโอกาสต่างกันมหาศาล คนรวยก็รวยล้นเหลือโดยหาได้ง่ายๆ. ในขณะที่คนจน ต่อให้ขยัน ทุ่มเทแค่ไหน ก็ยากที่จะมีโอกาสไต่ระดับฐานะ (ถึงจะมีได้บ้าง ก็เป็นสัดส่วนตำ่ และมักต้องอาศัยเงื่อนไขเฉพาะ เช่น โชคดีสุดๆ หรือใช้วิชามาร ประกอบอาชีพผิดกม. หรือไม่ก็อยู่ในเครือข่ายคอร์รัปชั่น ในสังคมทุนนิยมที่ดีนั้น โอกาสจะต้องมี ถ้าคนทุ่มเท ตั้งใจ จะต้องได้โอกาส อย่างน้อยโอกาสที่จะได้รับบริการสาธารณะที่เท่าเทียม โอกาสที่จะได้ดูแลสุขภาพ ได้รับการศึกษาคุณภาพ ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียง ฯลฯ
ไม่น่าเป็นไปได้และไม่ควรจะเป็น ที่คน 12 ล้านคนแรก จะเก่งจะดีจะขยันกว่า จนกระทั่งสร้างผลผลิต ได้มากกว่า คน 12 ล้านคนข้างล่าง ถึง 13 เท่าตัวในหนึ่งปี อย่างในประเทศเรา มันเป็นเรื่องของความแตกต่างทางโอกาสล้วนๆ ในประเทศทุนนิยมที่พัฒนา ความแตกต่างนี้อยู่ที่ 3-5 เท่า เท่านั้นเอง
ในอดีต แม้ความเหลื่อมลำ้มีมาก แต่ที่ไม่ปะทุเป็นปัญหา ก็เกิดจากสาเหตุหลายประการ
- ระบบสังคมอุปถัมภ์ แบบดั้งเดิม ทำให้ชาวชนบท ยอมรับความเป็น"เจ้าขุนมูลนาย" ยอมรับความ"เหนือ"กว่าของผู้ที่มีโชค"เกิดถูกครรภ์" โดยดุษณีย์ ประกอบการศึกษาที่ไม่กว้าง และไม่ก้าว ทำให้คนยอมมรับ"ชะตากรรม"ง่ายๆ
- ตั้งแต่ปี 2505-2540 เศรษฐกิจรวมเติบโตดีมาก (ภายใต้ระบบเผด็จการ และ ประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่พึ่ง Technocrats ในการบริหารศก.) ภายใต้แผนพัฒนาฉบับที่ 1-7 ศก.เติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี( Nominal Rate) ทำให้แม้ความเหลื่อมลำ้ไม่ดีขึ้น แต่ทุกคนก็มีรายได้เพิ่มขึ้นดี (2541-2555 ศก.โตเฉลี่ย ตำ่กว่า 5%)
- ความสำเร็จในการลดอัตราเร่งของจำนวนประชากร (คุมกำเนิด-เครดิตคุณมีชัย) ช่วยลดแรงกดดันด้านการครองชีพ ให้กับผู้มีรายได้น้อย
- การขยายตัวทางศก. และปรับเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมาก คนมีโอกาสที่จะเข้ามาทำงานในเมือง มีรายได้มากขึ้นกว่างานในไร่นามาก (แต่ในระยะหลัง ค่าแรงแท้จริงถูกกดไม่เพิ่มเลยถึง 15 ปี เพราะ Total Factor Productivity ไม่เพิ่ม)
ฯลฯ
แล้วไงล่ะ...แล้ว คุณทักษิณเข้ามาทำอะไร ชาวรากหญ้าถึงได้รักหนักหนา
ก็เกิดการลดความเหลื่อมลำ้อย่างมากในสมัยคุณทักษิณน่ะสิครับ ผมขอเริ่มด้วยสองเรื่องที่คุณทักษิณไม่ได้ทำอะไร แต่ได้รับผลดีไปเต็มๆ
เรื่องแรก คือผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติศก. เมื่อฟื้นกลับมา สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม คือ Wealth Distribution เรารู้อยู่ว่า วิกฤติต้มยำกุ้งนั้น เป็นวิกฤติของคนรวย เป็น Corporate Crisis คนรวยลำบากเยอะ คนจนได้รับผลพวงบ้างก็เป็นระยะสั้น ศก.ติดลบไป 2 ปี แต่อีก 3 ปีก็กลับมาที่เดิม แต่คนที่ได้มากขึ้นเป็นรากหญ้ามากกว่าคนเคยรวย ลองคิดดูว่า จาก 25 บาท/เหรียญ เป็น 40 บาท/เหรียญ เกษตกรได้เพิ่มเท่าไหร่ เกิด Export Boom การจ้างงานเพิ่มมาก (ก็เรานิยม labor intensive นี่ครับ) แรงงานได้เพิ่มมากในระยะต้น
พรรคประชาธิปัตย์ นั่งแก้ปัญหาอยู่เกือบสามปี ช่วงแรกคนลำบากเยอะ ต้องกัดลูกปืน(Bite The Bullets)ของท่าน IMF พอจะดี จะลืมตาอ้าปากได้ ท่านสุเทพ(ผู้นำ"มวลมหาประชาชน"ปัจจุบันนี้)นี่แหละ ดันไปมีเรื่อง สปก. 401 คุณชวน เลยต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ต้นปี 2544 ทำให้"ไทยรักไทย"ได้ 250 จาก 500 (ปชป.ได้แค่ 129) มาเป็นรัฐบาล "ทักษิณ1" รับอานิสงส์ไปเต็มๆ
เรื่องที่สอง เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บังคับให้มีการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจในการจัดการทรัพยากรเองบ้าง แทนที่จะต้องนั่งรอขอ รอเมตตาจากส่วนกลาง หรือรอจนกว่าจะได้ สส.สุดอัจฉริยะไปเบียดบังงบประมาณจากภาคส่วนอื่นๆของประเทศมาเทใส่จังหวัด ใส่ท้องถิ่นตนอย่างเหลือเฟือ (ท่านได้รับอิสสระแล้วในวันนี้เองครับ) พรบ.อบจ.2540 มีส่วนมาก ที่ทำให้คนรากหญ้า เข้าถึง และจัดการทรัพยากรส่วนกลางได้มากขึ้น (ซึ่งเรื่องนี้ หลายคนบ่นว่า ทำให้เกิดการกระจายการโกงกินไปด้วย แล้วมีผลให้เกิดการเชื่อมโยง แนบแน่นขึ้น ผ่านกระบวนการนักโกงกินระดับชาติ กับ นักโกงกินท้องถิ่น)
ทั้งสองเรื่อง เป็นประโยชน์ที่ช่วยให้เกิดการกระจายที่ดีขึ้น โดยรัฐบาลยังไม่ต้องทำอะไร
แล้วคุณทักษิณทำอะไรบ้าง คนถึงรักเทิดทูนเหลือเกิน ทั้งๆที่ไม่ได้เกิดเป็นเทพซะหน่อย....
ความจริง ในแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในช่วง ห้าปีเศษของรัฐบาลทักษิณ (2544-2549) ไม่ได้ดีเด่อะไร ศก.เติบโตในอัตราเฉลี่ยแค่ 5.1%ต่อปี นับว่าค่อนข้างตำ่ด้วยซำ้ ถ้าเปรียทเทียบกับประเทศ Emerging Market ด้วยกัน หรือจะเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติ หาได้สมกับฉายา Economic Tzar ที่ฝครๆพากันประโคม
แต่มีหลายเรื่อง ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ทำดีทำเก่ง ทำให้เกิดการกระจาย ทั้งรายได้ ทั้งโอกาส อย่างกว้างขวาง และลึก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เข้าสู่กลุ่มที่เราเรียกว่า"รากหญ้า" (ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่เคยขาดโอกาสนะครับ..ไม่ได้มีนัยยะดูถูกแต่ประการใด) ผมจะขอยกมาตามที่ได้สังเกตนะครับ
- เรื่องแรก เป็นเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ความจริงแล้ว 12 ปี(ตั้งแต่น้าชาติเป็นนายกฯ ปี 2531) ประเทศถูกปกครองโดยระบบ Buffet Cabinet โดยนักการเมืองรัฐบาลผสม แบ่งเค้ก ระบบTechnocrats ในกลไกราชการถูกทำลายแทบราบเรียบสิ้นเชิง ระบบและข้าราชการถูกเปลี่ยนให้สนองเป้าหมายทางการเมือง(ทั้งเป้าดี เป้าชั่ว) กลไกเรียกได้ว่าหย่อนประสิทธิภาพมาก นโยบายถึงจะมีดี แต่ยากที่จะถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดผล ..(.ถึงตอนนี้ ต้องขอโทษข้าราชการที่ดีที่ยังคงมีอยู่อย่างมากมาย แต่ผมคิดว่าท่านก็น่าจะอึดอัดกับระบบแบบนี้อยู่นะครับ) ความที่เป็นนักบริหารและค่อนข้าง Hands-on คุณทักษิณ สามารถผลักดัน สามารถExecute ให้กลไกราชการกลับมามี"ประสิทธิผล"(Effective)เพิ่มขึ้น นโยบายมีผลมากขึ้นเยอะ(เรียกว่า แก้ จากห่วยมาก ให้เป็นห่วยน้อยลงได้) การปฏิรูประบบราชการ ก็ช่วยให้มีความคล่องตัวมากขึ้น การตั้ง KPI ให้ข้าราชการเป็นครั้งแรกช่วยกระตุ้นให้อย่างน้อยต้องมีผลงานด้านดีบ้าง (KPI ด้านชั่ว ต้องไปตั้งกันอย่างลับๆครับ). จำ"อาจสามารถโมเดล"ได้ไหมครับ ความจริงงานทุกอย่างควรถูกจัดทำอยู่แล้วโดยหน่วยราชการทั้งหลาย แต่ทุกหน่วยเฉื่อยแฉะ ไม่ทำอะไร พอท่านลงไปตั้งแคมป์เพื่อโชว์ถ่ายทอดสด Real Time ชาว อ.อาจสามารถก็เลยเฮง ได้ทุกอย่าง(ที่จริงๆควรจะได้อยู่แล้ว)เป็นบูรณาการ ต้นนำ้-กลางนำ้-ปลายนำ้ไป (เอ๊ะ..นี่เลียนแบบพี่ชายนี่หว่า)
- เรื่องที่สอง ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ช่วง 5 ปีของรัฐบาลทักษิณ งบประมาณแผ่นดินที่ส่งผลถึงรากหญ้า (จากการรวบรวมแยกแยะใหม่ ของทีมวิเคราะห์ศก.บล.ภัทร) จากเดิมที่มีเพียง 16%ของงบ เพิ่มเป็น 24% ถึงแม้บางส่วนอาจมาจาก รธน.ใหม่ แต่ผลก็มาเกิดในช่วงนี้ ลองคิดดูครับ งบประมาณปีหนึ่งๆ 1.5 - 2 ล้านล้าน 8%ที่มาเพิ่ม ปีละ 1.2 - 1.6 แสนล้านบาท ที่ตกถึงรากหญ้าเพิ่มขึ้น ถึงจะรั่ว จะไหล ไปบ้าง แต่ที่เหลือก็สร้างความมั่งคั่ง บรรเทาความเดือดร้อน ให้พวกเขาได้ไม่น้อย
- เรื่องที่สาม คือการใช้เงินนอกระบบงบประมาณ สิ่งที่เพิ่มมาก มีอยู่สองอย่าง คือเงินกู้ต่างๆที่อัดให้กับรากหญ้า ผ่านกองทุนรูปแบบต่างๆเช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนSML กับผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธ.ออมสิน ธกส. อคส. SMEs Bank บสย. เชื่อไหมครับ ปี 2541 สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ(SFI)เหล่านี้ มีทรัพย์สินรวมกันแค่350,000 ล้าน เป็น 12% ของGDPเวลานั้น ปัจจุบันมีทรัพย์สินรวมกว่า 4,000,000 ล้านบาท คิดเป็น37%ของ GDP เงินเหล่านี้ ถึงจะไปสู่รายใหญ่ หรือรั่วไปอยู่ในตู้เสื้อผ้าใครบ้าง แต่ส่วนที่ตกถึงมือชาวบ้าน ก็เพียงพอที่จะสร้างความรักเคารพให้อย่างล้นเหลือ
- เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องที่อาจไม่เกี่ยวกับรากหญ้าโดยตรง แต่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งส่งผลต่อให้มีการระดมทุนภาคเอกชนอีกมาก และการจ้างงานเพิ่มเต็มที่(ไม่งั้นชะลอกว่านี้อีกเยอะ) คือการนำรัฐวิสาหกิจใหญ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ผมขอไม่เรียกว่า แปรรูปฯ เพราะจริงๆแล้วทำแค่ครึ่งเดียวของPrivatizationที่ควร) ซึ่งทำให้ ตลาดทุนที่ซบเซาอย่างมากหลังวิกฤติ (SET INDEX ก่อน เอา ปตท.เข้าตลาด แค่ 280) กลับมามีชีวิต คึกคัก ดึงดูดการลงทุนได้มาก ผมขอเดาว่า ถ้าไม่มีการlist ปตท. และลูกๆ กอท. อสมท. การเติบโตทางศก.น่าจะหายไป ปีละเกือบ 1% เลยทีเดียว เรื่องนี้ เป็นเครื่องวัด "ประสิทธิผล"เปรียบเทียบได้ดี เพราะ รัฐบาลชวน ก็มีแผนเร่งแปรรูป แต่สามปีไม่คืบหน้าเลย ขณะที่รัฐบาลทักษิณทำปีเดียวออกได้เป็นพรวน และผมประทับใจ คุณทักษิณมาก ที่กล้าประกาศเลยว่า จะเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในการหาเสียง ใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องเลือกพรรคไทยรักไทย ไม่เหมือนพรรคอื่นๆที่หงอ กลัว NGOs ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นเรื่องดี เลยไม่กล้า แทนที่จะพยายามอธิบายชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ เป็นที่น่าเสียดายมาก ที่เราไม่มีการแปรรูปอีกเลย ที่ค้างไว้ ที่ทำไปครึ่งเดียว เลยไม่มีการสานต่อ เลยกลายเป็นแค่"รัฐวิสาหกิจจดทะเบียน" ที่ยังอยู่ใต้อำนาจ ใต้อุ้งเท้านักการเมือง
- เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง คือ การประชานิยมทั้งหลายแหล่ ทุกการประชานิยม จะดีจะเลว อย่างน้อยก็เป็นการ Redistribution นั่นคือ การเอาทรัพยากรกลาง (ซึ่งแน่นอนครับเก็บมาจากภาษี และคนมีมากก็ต้องเสียภาษีมากกว่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะภาษีทางตรง ทางอ้อม ..เพราะบริโภคมากกว่าอยู่ดี) ไปกระจาย และแน่นอนครับ ย่อมกระจายให้กับคนจน คนด้อยโอกาส พวกรากหญ้าได้รับมากกว่า อันว่าประชานิยม ไม่ใช่ว่าจะแย่ไปเสียทั้งหมด อย่าง "หลักประกันสุขภาพทั่วหน้า" นับว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดในรอบหลายสิบปีก็ว่าได้ หรือ ประชานิยมประเภทที่ทำให้คนได้ทุน ได้รับการศึกษาที่ดี ได้ฝึกอาชีพ ก็คุ้มค่า หรืออย่างนโยบายขึ้นค่าแรง ก็พอรับได้ พวกประชานิยมที่แย่หน่อย ก็พวกแจกเงินแบบ "เอาไปกิน..แล้วก็ถ่าย" ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพใดๆ ..แต่ที่ห่วยสุด ก็คือพวกที่นอกจากไม่เกิดผลิตภาพแล้ว ยังไปบิดเบือนกลไกตลาด ไปครอบงำ และทำลายกลไก ทำลายประสิทธิภาพ ผลิตภาพที่สร้างสมมานาน แถมออกแบบให้รั่วง่าย ไหลง่าย "ประชา"ได้รับส่วนน้อย ที่เหลือหายไปกับสายลมหมด
อันหลังนี่ ถามใครก็ตอบได้ สามคำจำง่าย ก็โครงการ "จำนำข้าว" ที่ยังนั่งยันยืนยันว่า "มีประโยชน์"แถมท่านสส.ผู้ทรงเกียรติอีก สามร้อยกว่าคน ก็ช่วยยกมือยืนยันให้อีก (เฮ้อ...เค้าถึงไม่เอายุบสภาไงครับ คงกลัวพวกท่านกลับมายกมือตะบี้ตะบันอีกน่ะ)
ที่เขียนมายืดยาวในบทนี้ เป็นเหตุผลอธิบายว่า ทำไมคนกลุ่มใหญ่จึงชื่นชมสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ไงครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องโง่อะไร ถ้าผมเกิดมาในนา ไม่ได้โชคดีได้รับโอกาสเล่าเรียนในสถาบันชั้นดี (วชิราวุธ-จุฬาฯ) ไม่ได้โชคดีได้งานดี มั่งคั่งง่ายๆ ผมย่อมชื่นชมกับคนที่หยิบยื่นโอกาสให้ผม คนที่พูดแล้วทำจริง เอามาให้ผมได้รับจริง ไม่เห็นแปลกอะไรที่ผมจะชื่นชมยกย่อง โดยเฉพาะในสังคมที่แต่เดิม คนมีโอกาสเค้าไม่เคยแบ่ง เคยปัน เอาแต่กอบโกยเสวยสุข แถมยังมีท่าทีดูถูกเหยียดหยาม ไม่เคยเคารพ"ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"ของคนยากไร้ ด้อยการศึกษา
ถึงตอนนี้...อย่าเพิ่งตราหน้าผมว่าเป็น "พวกเสื้อแดง"นะครับ (ความจริงหลายเรื่องผมก็เป็น เสื้อแดงอยู่นะ) ผมไม่ได้ชื่นชมระบอบ นโยบาย วิธีคิด วิธีทำ ของรัฐบาลทักษิณ สักเท่าไหร่ ทุกเรื่องมีต้นทุน มีผลกระทบ มีข้อผิดพลาดรั่วไหล และแม้แต่ ทำไปนานๆแล้ว สามารถบิดเบือนไปได้แม้จากเจตนา จากเป้าประสงค์ดั้งเดิม
วันนี้เขียนมาสามชั่วโมง ยาวเกินกว่าที่จะมีคนทนอ่านแล้วนะครับ ตอนหน้า จะมาวิเคราะห์ถึงข้อเสีย ผลกระทบ ตลอดจนปัญหาของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" นะครับ
รับรองว่าจะไม่ให้รอนานเกิน เพราะขืนทิ้งไว้แค่นี้ ออกไปเดินถนน อาจโดน"มวลมหาประชาชน"เข้าใจผิด คิดว่าเป็นสาวกผู้จงรักของระบอบ จับตัวขึ้นเวทีแล้วกระทืบจนเป็น"ศพที่ห้า" สังเวยความขัดแย้งนี้ (พูดเล่นล้วนๆเพื่อคลายเครียดนะครับ อย่าถือสาหาความ จริงๆผมเชื่อว่า ทุกท่าน"อหิงสา" ไม่นิยมความรุนแรง)
วันนี้ ตั้งใจลางาน ...ไม่ได้ทำ"อารยะขัดขืน"ตามคำขอ หรือไม่ได้เพื่อฉลอง 109 อัศวินที่พ้นโทษ พร้อมโดดลงสนามมารับไซร้ชาติต่อ แต่จะไปเฝ้าไข้คุณแม่ กับจะรีบเขียนบทความ มหากาพย์นี้ให้เสร็จเร็วๆ
หวังลมๆแล้งๆว่าอาจเป็นประโยชน์บ้าง...เฮ้อ..ไม่รู้ว่าทันหรือเปล่า
"ข้อเสนอต่อประเทศไทย"
ตอนที่ 3: สภาพสังคม ศก.ที่เปลี่ยนไป๋. (เขียนเมื่อ 3 ธค. 2556)
ในตอน 2 ผมพยายามสรุปว่าทำไม คนกลุ่มใหญ่คือ รากหญ้า ถึงได้ชื่นชม "ระบอบทักษิณ" ทั้งเรื่องที่คุณทักษิณทำ และเรื่องที่เกิดเองโดยกระบวนการ หลายเรื่องก็เกี่ยวพันกัน เช่น โครงการ 30 บาท ที่ทำให้คนจนลดห่วงเรื่องสุขภาพ ประกอบกับ รายได้ดีขึ้น สามารถทุ่มทรัพยากรทั้งหลายไปให้กับการศึกษาบุตรธิดา คนจนชนบทส่งลูกหลานเข้าเรียนในเมือง เพื่อหวังได้รูปถ่ายรับปริญญามาติดฝาบ้าน(เป็นเรื่องใหญ่ของเขาจริงๆนะครับ) เสร็จแล้วเยาวชนเหล่านี้ก็ไม่ค่อยจะยอมกลับบ้าน (อาจจะติดแสงสีเสียง หรือ ความสนุก ความสะดวกของเมือง) แต่แปรสภาพเป็น"คนจนเมือง"
เมื่อสองเดือนก่อน ผมได้ไปนั่งฟังการเสนองานวิจัยของ Prof. Robert Townsend แห่ง MIT ( เป็นนักศศ.ชนบท ที่มีชื่อเสียงมากของโลก มาทำวิจัยในชนบทไทยกว่าสิบห้าปี...แต่แปลกใจมาก ที่วันที่ผมไปฟังที่จุฬาฯ มีคนฟังสิบกว่าคนเอง) ผลที่ได้ทำให้ผมแปลกใจ นั่นคือ เกษตรกรไทย มีรายได้ดีขึ้นมาตลอด มีทุนและความมั่งคั่งสะสมดีทีเดียว มีระบบการเงินแบบinformal ที่ค่อนข้างดี สรุปว่า ดีขึ้นตลอด เรียกได้ว่า "คนจนชนบท"แทบจะหมดไป
เรื่องนี้ ถ้าพิจารณา จาก ผลิตผลเกษตรที่เพิ่มขึ้นตลอดมา ราคาที่ดีขึ้น ทั้งราคาตลาดโลก ทั้งจากการแทรกแซงของรัฐ ขณะที่จำนวนแรงงานในภาคเกษตรที่คงที่ที่ 14.5ล้านคนมาร่วม สิบห้าปี ย่อมแปลได้ว่า ผลิตภาพดีขึ้น รายได้ดีขึ้น (นี่เป็นเพียงข้อสังเกตุของผม อยากให้มีการวิจัยละเอียดเยอะๆครับ)
ทีนี้ แรงงานที่เพิ่มเกือบเก้าล้านคน ในช่วงสิบห้าปีนี้ไปไหน ทำอะไร เป็นอยู่อย่างไร แถมมีแรงงานทะลักเข้าจากเพื่อนบ้านอีก(ประมาณว่ากว่าสี่ล้าน) คำตอบง่ายๆคือ เข้าเมือง และส่วนใหญ่แปรสภาพเป็น"คนจนเมือง" นั่นคือ มาทำงานที่ไร้ทักษะ เช่น ก่อสร้าง พนักงานขาย งานบริการ ร้านอาหาร โรงแรม หรือโรงงานประเภททักษะตำ่ (labor intensive) และ อีกจำนวนมากไปทำงานอิสสระนอกระบบ เช่น แผงขายของ หาบเร่ แมงกะไซ ฯลฯ ...ลองหลับตากลับไปนึกภาพกรุงเทพฯเมื่อยี่สิบปีก่อนดูสิครับ ถ้าอยากซื้อสินค้าแผงราคาถูก ก็ต้องบากบั่นไปซอยละลายทรัพย์ หลังแบงค์กรุงเทพ สีลม เท่านั้น หาบเร่แผงลอยก็มีจำกัด เทศกิจโผล่มาที ก็หอบแผงวิ่งหนีจ้าละหวั่น มาวันนี้ แหล่งแผงขายสินค้าราคาถูกมีเป็นพันแหล่ง หาบเร่มีมากกว่าจนท.เทศกิจเป็นพันเท่า ถ้าจะจับหาบเร่ รับรองต้องขยายคุกอีกสิบเท่า
สรุปง่ายๆ สังคมคนจนได้เปลี่ยน ได้ย้าย จาก "จนชนบท" มาเป็น "จนเมือง" แต่พอจะอนุมานได้ว่า ความสัมพันธ์ยังใกล้ชิดกัน การเกื้อหนุนยังสูง (ก็เพิ่งเกิดในgeneration นี้นี่ครับ) เพียงแต่ค่อนข้างกลับข้าง จากการที่ แต่ก่อนคนหนุ่มสาวเข้าเมือง หางานทำเพื่อหาเงิน ส่งกลับไปเจือจุนครอบครัวยากไร้ในชนบท ...เปลี่ยนเป็น คนหนุ่มสาวเข้าเมือง เพื่อการศึกษา เพื่อสร้างเพื่อหาโอกาสที่ดี(ที่คว้าไม่เจอซะที) ในระหว่างนั้น ครอบครัวชนบทก็ช่วยลงทุนให้ ช่วยเกื้อหนุนส่วนที่ขาด (ซึ่งรวมไปถึง ค่ามือถือ iPhone iPad เที่ยวเตร่ เหล้ายา ตลอดไปจนถึงยาบ้า)
ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านการศึกษาก็ล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ ลงทุนเข้ามาเรียนแสนแพง จบไปไม่ได้คุณภาพ ไม่มีผลิตภาพ ความฝันไปไม่ถึง (แต่อย่างน้อยก็เรียนรู้ที่จะเรียกร้องสิทธิ์ เรียนรู้ที่จะสร้างอำนาจต่อรองสาธารณะ)
ที่แย่กว่านั้น ถ้าไปดูค่าตอบแทน ซึ่งผมใช้"ค่าแรงขั้นตำ่"เป็นฐานหลัก สำหรับคนจนเมือง เพราะ ถ้าตำ่เกิน ก็จะขาดแรงงาน ถ้าสูงเกิน พวกนอกระบบก็จะไหลเข้ามาล้นเกิน เกิดว่างงานมาก แต่นี่อัตราว่างงานตำ่ ถือได้ว่าสมดุลมาตลอด ถ้าจะหาปัญหาพื้นฐานจริงๆ ผมว่าเป็นเพราะเราไม่ได้มุ่งพัฒนาผลิตภาพซึ่งเป็นfundamentalสำคัญที่สุดในการพัฒนา Total Factor Productivity (TFP)ของเราเพิ่มช้าและน้อยมาก รายได้ถึงจะเพิ่ม จึงไม่สามารถไหลลงสู่ชนรากหญ้าได้
ค่าแรงขั้นตำ่ ตลอดสิบสี่ปีหลังวิกฤติ ในอัตราแท้จริง(ปรับเงินเฟ้อ)กลับติดลบถึง 1.4% ขณะที่ GDPแท้จริงโตถึง 73% และ GDP ต่อหัวเพิ่ม 53% แล้วความเติบโตความมั่งคั่ง มันหายไปไหนหมดล่ะ "คนจนเมือง"ถึงไม่ได้เลย... คำตอบง่ายมากครับ ก็พวกเกษตรกรดีขึ้นบ้าง(ตามที่กล่าวแล้ว) ที่เหลือพวกเศรษฐี พวกอำมาตย์ พวกคนชั้นกลาง ได้รับไปแบ่งกัน ...รายได้ของลูกจ้างทักษะสูง เช่น ทำงานธนาคาร งานการตลาด งานคอมพิวเตอร์ ตลอดไปถึงข้าราชการ ครู มีอัตราเพิ่มที่ดีตลอดมา...ส่วนที่เพิ่มมากสุดเป็น กำไรกิจการ (Corporate Profit) ที่เพิ่มถึง254% (ส่วนนี้ตกเป็นของคนไม่กี่แสนคน ไม่ถึง1%ของประชากร กับพวกต่างชาติที่มาลงทุน)...ส่วนที่คนจนเมืองรู้สึกดีขึ้นบ้าง ก็เพราะได้เกื้อหนุนจากพ่อแม่ในภาคเกษตร และ โครงการประชานิยมต่างๆนี่แหละครับ
สภาพความเป็นมา การเปลี่ยนแปลง อันเริ่มจากการฟื้นตัวหลังวิกฤติ ผลจากรธน. และการเปลี่ยนทางศก. และสังคมทั้งหมดนี้ ผมเคยเขียนไว้ในบทความ เรื่อง"ความเหลื่อมลำ้" เมื่อ 22 มิย. 56 ไปดูรายละเอียดได้นะครับ
ความจริงการเปลี่ยนแปลงนี้ ผมคิดว่านักวิชาการ นักพัฒนาต่างๆ ก็หลงทางกันเยอะ พอพูดถึง"คนจน"ก็มุ่งไปที่ชนบท ที่เกษตรกรก่อน ช่วงปลายสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผมเคยถูกเรียกเข้าไประดมสมอง ก็เริ่มด้วยการพูดว่า จะแก้ปัญหาความยากจนชนบท ผมเลยเสนอบทวิเคราะห์ที่ว่า และขอให้กลับมาเน้นที่ "คนจนเมือง" ซึ่งถ้าพิจารณา"โครงการปราภิวัฒน์"ปลายสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์จะเห็นว่ามุ่งตอบโจทย์คนจนเมือง แต่อย่างว่า รู้ช้า ทำได้ช้า ข้อจำกัดเยอะ เลยเข้าทำนอง"ช้าไปต๋อย" พอเลือกตั้ง ก็เลยแพ้ยับ พรรคเพื่อไทย ระดมเสนอโครงการสร้างความหวัง แจกกระจาย เช่น ข้าวตันละหมื่นห้า ค่าแรงพุ่งพรวด ทำได้ไม่ได้ลุยไปก่อน เอาอำนาจมาให้ได้ ชิบหายระยะยาวช่างมัน พอเลือกตั้ง ปชป.ก็เลยแพ้ยับ
เรื่องปัญหา"คนจนเมือง" ต่างจากปัญหา "คนจนชนบท"เยอะ โดยเฉพาะ แนวโน้มที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ความแตกต่างทางชนชั้นสามารถนำไปสู่สงครามได้ง่าย ทฤษฎีการปฏิวัติชนชั้นของ คาร์ล มาร์กซ์ ก็มีพื้นฐานมาจาก "คนจนเมือง"นี่แหละครับ ...จากการวิจัยปัญหาการจลาจลของ"คนดำ"ในเมืองใหญ่ๆของสหรัฐช่วง ทศวรรษ 1960s เช่น ในDetroit Pittsburg. Chicaco NY ต่างก็ระบุชัดว่า เรื่องตัวเลขการแตกต่างของรายได้ไม่ใช่ปัญหาเดียว แต่การมาอยู่ในเมือง มันมีแรงกดดันทางสังคมอื่นๆ ต้องถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน ต้องเจอการดูถูกเหยียดหยาม เห็นความแตกต่างของโอกาสอย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นชนวนของความแตกหักทั้งนั้น
จะโดยบังเอิญ หรือโดยตั้งใจก็ตามแต่ นโยบายของพรรคไทยรักไทย ตลอดมาถึงพลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย รวมทั้งชั้นเชิงทางการเมือง ทางการประชาสัมพันธ์มวลชน ทำให้คนที่เคยรู้สึกว่าด้อยโอกาส ถูกดูถูกเหยียดหยาม มีความรู้สึกที่ดีขึ้น มีความหวัง ถึงแม้ศก.โดยรวมไม่ได้โลดแล่นมาก แต่คนจำนวนมากรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
แล้วใครเป็นผู้เสียหายล่ะครับ...
ไม่มีอะไรหล่นลงมาจากฟ้า ถ้ามีคนได้ย่อมมีคนเสีย
ความจริงช่วงทักษิณ 5 ปี ศก.เติบโตในอัตราเฉลี่ยแค่ 5.1% ไม่ได้ดีอะไรมาก แต่อย่างที่ผมบอก เศรษฐีก็ดีขึ้น ข้าราชการก็ดีขึ้น คนระดับกลางที่ทำงานใช้ทักษะก็ดีขึ้น เกษตรกรก็ดีขึ้น รากหญ้าแม้ยังไม่ดีมากแต่ก็รู้สึกว่าดีขึ้น(จากของแจกของแถม)
พวกที่เลวลง ก็คงเป็นพวกที่ทำงานในบางแห่งที่ไม่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลง พวกนักธุรกิจที่ไม่ได้ปรับปรุงTFP ทำให้แข่งขันได้ยากขึ้น พวกนักธุรกิจที่เข้าไม่ถึงอำนาจพรรคพวกนิยม หรือแทงผิดข้าง ข้าราชการที่ไม่ถูกนับเป็นพวก เลยถูกรังแก และพวกกลุ่มใหญ่ที่กินบุญเก่า กินดอกเบี้ย กินบำนาญ ซึ่งดันเจอดอกเบี้ยตำ่ ผลตอบแทนแท้จริงติดลบมานาน พวกนี้เป็นพวกที่เสียโดยตรง แต่ในที่สุดก็จะถูกสมทบด้วยพวกที่แท้จริงแล้ว ไม่ได้รับผลเสียทางศก. แต่ทนกับความบิดเบือน ความมั่ว ความคดโกงไม่มีที่สิ้นสุด ไร้หลักการไม่ได้ ออกมารวมกันเป็น "มวลมหาประชาชน"ในปัจจุบัน ซึ่งผมจะค่อยๆวิเคราะห์ในตอนต่อๆไป
ความจริงถ้าไม่มีปฏิวัติ 2549 นโยบายแบบเดิมก็จะถึงทางตันเองอยู่แล้ว สุดท้ายต้องหันไปเพิ่ม TFP ในระยะยาวให้ได้เท่านั้น คือ คำตอบสุดท้าย น่าเสียดายที่เราเกิดการแตกแยกรุนแรงเสียก่อน 7 ปีที่ผ่านมาจึงแทบไม่มีการปรับปรุงเรื่องนี้เท่าไหร่ (เกือบทศวรรษแล้วนะครับที่หายไป)
ตอนที่แล้วผมเกริ่นว่า ตอนนี้จะอธิบายถึงข้อผิด ข้อพลาด ข้อไม่ดีของ "ระบอบทักษิณ" คงต้องยกไปตอนหน้าอีกละ เพราะผมตั้งใจจะอธิบายทุกเรื่องอย่างละเอียดที่สุด ในบทความชุดนี้ เรียกว่า เอาความรู้ทั้งชีวิตเกี่ยวกับสังคมมาเรียบเรียงไว้ให้หมด ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สามารถช่วยเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ได้ทัน แต่เชื่อเถอะครับ ไม่ว่าใครจะชนะศึกในรอบนี้ ปัญหายังไม่มีทางจบหรอกครับ ผมได้แต่หวังว่าในอนาคต จะมีคนเข้าใจปัญหาทุกอย่าง ร่วมกันสร้างสรรทางออกที่ยั่งยืนถาวร
อย่างที่บอกแหละครับ ผมไม่ใช่ปราชญ์ ไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักวิชาการ เป็นแค่คนธรรมดาที่รักสังคม รักชาติ รักเพื่อนมนุษย์ ความรู้ ความเห็น ย่อมไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนไปทั้งหมด หวังว่าถ้าเป็นประโยชน์บ้างก็จะภูมิใจแล้วครับ
"ข้อเสนอต่อประเทศไทย"
ตอนที่ 4 : สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมมีพลั้ง/1. (เขียนเมื่อ 2 ธค. 2556)
วิเคราะห์ข้อผิด ข้อพลาด ต้นทุน ผลกระทบทางลบ : ที่มาจากสิ่งที่เรียกว่า"ระบอบทักษิณ"(Thaksinocracy)
ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ผมคิดหนักก่อนที่จะเขียนบทความนี้ ในตอนที่1 ผมก็ได้เกริ่นไว้ว่า "น่าจะขาดทุนเป็นแน่"ผิดวิสัยนักธุรกิจ ที่ทำอะไรต้องคำนวณผลได้ผลเสียที่จะตกแก่ตน
ความจริงผมและพรรคพวกที่"ภัทร" เป็นมิตรกับทุกคนทุกฝ่ายมาตลอด ผมเป็นมิตรกับ ดร.ทักษิณและคณะมานาน เพราะเราได้โอกาสให้บริการทางธุรกิจ มาตั้งแต่กว่า25 ปีก่อน พอๆกับที่เป็นมิตรกับคุณอภิสิทธิ์ คุณกรณ์ และคณะ พวกเราไม่มีฝักมีฝ่าย เราพยายามสร้างประโยชน์ตลอดมา เราถือคติที่ว่า "ใครก็ตาม ถ้าจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เราเห็นด้วย และมีศักยภาพที่จะช่วยได้ เราจะรับใช้ทั้งนั้น" เราไม่สนใจด้วยซำ้ ว่าโดยรวม คนๆนั้น คณะนั้นๆ เป็นคนดีหรือไม่ ขอให้สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่เรามั่นใจว่าดี เป็นประโยชน์ชาติ เราถือคติว่า "เราอาจจะเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ทั้งหมด แต่เราทำให้มันดีขึ้นได้" ถ้าเป็นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ หรือ ตลาดทุน เรารับใช้รับงานมาทุกรัฐบาล ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับค่าจ้าง และเราก็มั่นใจว่า เราได้งานด้วยความสามารถ ไม่ใช่ด้วยเส้นสาย งานที่เราทำมีประโยชน์ต่อชาติ และที่สำคัญเราไม่เคยต้อง"ทอนเงิน"ให้ใครเลยสักบาท
ที่เกริ่นมายืดยาว ไม่ใช่ว่าจะกลัวอำนาจ หรือกลัวผู้มีอำนาจ แต่เนื่องด้วย เราทำตัวเป็น"กัลยาณมิตร"กับทุกฝ่ายตลอดมา เมื่อใดที่เราคิดว่ามีข้อบกพร่อง มีข้อกังวล เกี่ยวกับนโยบายใด เราจะเข้าไปเตือน ไปแสดงความคิดเห็นโดยตรง (และแน่นอน ที่ไม่มีใครเชื่อ หรือทำตามเราทุกครั้ง...หลายครั้ง แม้จะเห็นด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดอื่นๆที่ทำให้ทำไม่ได้ คนทำกับคนแค่พูด..มันไม่เหมือนกันครับ) เราไม่ได้เอาแต่ประจบสอพลอ ไม่ได้เข้าไปเยินยอใดๆ แต่เรามักไม่มาวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะนอกจากเหลืออดจริงๆ (เช่น จ.น.ข.)
ที่ครั้งนี้ ผมต้องมานั่งวิเคราะห์อย่างค่อนข้างเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็เป็นเพราะ ผมคิดว่าอาจเป็นประโยชน์ ให้ผู้ที่แตกแยกทั้งสองฝ่าย ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้สาธารณะ เข้าใจถึงรากแก่น ของปัญหา เผื่อจะช่วยบรรเทาความโกรธเกรี้ยวเข้าใส่กัน และนำไปสู่ "ทางออกประเทศไทย"ในที่สุด(ก็หวังเพ้อเจ้อไปก่อนน่ะ)
ที่ต้องมี Disclaimerยืดยาวนี้ เพราะผมกลัวว่าจะเป็นเรื่องเสียมารยาทที่มาวิจารณ์"มิตร"ในที่แจ้งเท่านั้นครับ ไม่ใช่กลัวภัยอื่น ถ้าล่วงเกินก็ต้องขอโทษมิตรทั้งหลายด้วยนะครับ
ขอเข้าเรื่องเสียที เลียบค่ายอยู่ตั้งนาน...
ในตอนที่2 กับ ตอนที่3 ผมพยายามอธิบายสิ่งที่ทำให้คนกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะ "ชาวรากหญ้า" ชื่นชมได้ประโยชน์ ในช่วงรัฐบาล พตท.ทักษิณ ในตอนนี้จะพยายามอธิบายถึงอีกกลุ่มหนึ่งที่เกลียดชัง"ระบอบทักษิณ"บ้าง โดยจะแยกเป็นข้อๆนะครับ
1. เป็นเรื่อง การกระจายรายได้อีกแหละครับ คือ ในด้านของ Income Side ของGDP ซึ่งประกอบด้วย เงินเดือนค่าจ้าง(Wages) ดอกเบี้ย(Interest) ค่าเช่า (rental) กำไรบริษัท(corporate profit ) และ กำไรรายได้ผู้ประกอบการย่อยซึ่งรวมนอกระบบด้วย (Proprietor's Income)
อย่างที่บอกแล้ว ในช่วงหลังวิกฤติ เกษตรกรดีขึ้น คนทำงานทักษะสูงดีขึ้น ข้าราชการ ครู ดีขึ้น แต่ที่ดีมากที่สุดคือ ธุรกิจเอกชน corporate profit เฉลี่ยเติบโตกว่า 20% ต่อปีตลอดมาหลังวิกฤติ จนทำให้สัดส่วนสูงขึ้นมาก จากไม่ถึง20% ของGDP เป็นกว่า 30% และแน่นอนย่อมกินส่วนจากภาตส่วนอื่นๆไม่น้อย (ส่วนนี้ตกเป็นของคนจำนวนไม่เกิน 1%ของประชากร กับพวกนักลงทุนต่างชาติ) แต่ถ้าไปดูรายละเอียดจะพบว่าพวกที่กำไรเพิ่มมากจะเป็น บรรษัทใหญ่ๆ บรรษัทต่างชาติ บรรษัทที่มีการคุ้มครอง เช่น ได้สัมปทาน พวกสถาบันการเงิน ฯลฯ พวกที่ทำธุรกิจ Non-tradables (เพราะกระตุ้นการบริโภค) กับพวกที่เข้าถึงระบบ"พรรคพวกนิยม"ของผู้มีอำนาจ ส่วนพวกอื่นๆ โดยเฉพาะพวกที่ทำ Tradables ช่วงแรกดีเพราะค่าเงินอ่อน แต่ต่อมาค่าเงินแข็งขึ้น การปรับปรุงผลิตภาพ(TFP)มีไม่พอ ค่อนข้างลำบากกันทั่ว โดยเฉพาะมาขึ้นค่าแรงพรวดพราด เจ๊งระนาว
ไม่มีอะไรหล่นลงมาจากฟ้า... ศก.รวมโตแค่ 5% เลยมีคนได้และมีคนเสีย ที่เสียแน่คือพวกที่มีรายได้จากเงินออม เพราะดอกเบี้ย และค่าเช่าตำ่เตี้ย ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบด้วยซำ้(เงินเฟ้อสูงกว่า) สำหรับคนทำงานทักษะกลางๆ (พวกชั้นกลางระดับล่าง) พวกนี้ไม่ดีขึ้น ทรงตัวหรือแย่ลง
ความจริงพวกแรงงานทักษะตำ่ และนอกระบบ ดีขึ้นระยะต้นเท่านั้น รายได้แท้จริงไม่เพิ่มเท่าไหร่ เพราะผลิตภาพไม่ได้เพิ่ม แต่ที่รู้สึกดี เพราะการเกื้อหนุนจากครอบครัวเกษตร และจากประชานิยม อย่างตอนหลังปฏิวัติ 2549 รัฐบาลสุรยุทธดันปิดก๊อกประชานิยม แถมราคาสินค้าเกษตรไม่ดี คนกลุ่มนี้เลยยิ่งคิดถึง"ท่านทักษิณ"เข้าไปใหญ่ พอเลือกตั้ง ก็อย่างที่เห็นแหละครับ ขนาดหาเสียงอยู่ดูไบ พรรคพลังประชาชน ยังชนะถล่มทะลาย
(การวิเคราะห์ในข้อนี้ หลายส่วนมาจากการสังเกตุคาดคะเนนะครับ หวังว่าจะมีการศึกษาต่อ การวิจัยเรื่องความเหลื่อมลำ้ในไทยยังต้องทำอีกเยอะ อย่างงานศึกษาของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล จากMIT ที่เสนอใน BOT Symposium ก็น่าขยายผลลงลึกไปอีก)
2. เรื่องของ"พรรคพวกนิยม"แบบไทยๆ ...เราเป็นระบบ"ทุนนิยมพรรคพวก"(Crony Capitalism) มาแต่ไหนแต่ไร และก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง จากระบบเจ้านายกะขุนนาง มาเป็นพรรคพวกคณะราษฎร์ มาเป็นพวกเผด็จการ กึ่งเผด็จการ จนมาเป็นพรรคพวกแบบนักการเมืองอาชีพแบบBuffet Cabinet จนมาเป็นระบบอาญาสิทธิ์ทุนนิยม (Elected Capitalist Absolutism)ในปัจจุบัน ตามนิยามของอ.เกษียร เตชะพีระ หรือก็คือ"ระบอบทักษิณ"(Thaksinocracy)
ลองมาดูพัฒนาการของ"พรรคพวกนิยมไทย" ใน 25 ปีหลังบ้าง ก่อนหน้านั้น เราเป็นปชต.ครึ่งใบ อำนาจยังอยู่ในมือขุนศึก ที่ให้เทคโนเครต บริหารศก. (ถ้าสังเกตุให้ดี เมื่อยี่สิบปีก่อน ธนาคาร บรรษัทใหญ่ๆ รัฐวิสาหกิจสำคัญ จะต้องมีประธาน มีกรรมการติดยศ พลเอก นั่งอยู่แทบทุกแห่ง) รัฐบาลผสมนั้นมักจะสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ไปมา ไม่มีใครได้คุมอะไรถาวร
พอมาปี2531 ป๋าวางมือ น้าชาติ พลอ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นนายกฯ (ความจริงท่านเลิกเป็นทหารมานานแล้ว ยศสุดท้ายพลจัตวาเอง มาเป็นนักการเมืองอาชีพ แต่พอเป็นใหญ่พวกสอพลอก็ขอยศให้) ท่านเลิกใช้พวก Technocrats คุณประมวล สภาวสุ เป็นนักการเมืองอาชีพคนแรกที่เป็นรมต.คลัง ต่อด้วยคุณบรรหาร ศิลปอาชา นักการเมืองเข้าคุมสมบูรณ์ขึ้น แต่ยังไงก็เป็นรัฐบาลผสม ต่อรองย้ายแยกกันคุมกระทรวงสำคัญผลัดกันไปมา เป็นอย่างนี้ 12 ปี เรียกได้ว่าเป็นระบบ Buffet Cabinet ถึงจะมีท่านอานันท์มาสลับ สองช่วงสั้นๆ ก็เป็นแค่พักยก กินของหวานกาแฟ ไม่มีการเปลี่ยนด้านโครงสร้างมากนัก
ด้านนักธุรกิจ โดยเฉพาะพวกที่ค้าขายกับรัฐ รัฐวิสาหกิจ และพวกที่ต้องใช้อำนาจรัฐ (เช่น ที่ต้องใช้สัมปทาน ใช้ใบอนุญาตต่างๆ) ก็ต้องปรับตัวพัฒนาตามการเปลี่ยนลักษณะอำนาจ และขั้วอำนาจ เมื่อห้าสิบปีก่อน การลงทุนต่างๆจะเกิดกับผู้ที่ใกล้ชิดเผด็จการ และ ผู้ที่เข้าถึงอำนาจเงิน คือนายธนาคาร เท่านั้น จะเห็นได้ว่า ก่อนปี 2530 การลงทุนใหญ่ๆทำได้อยู่ไม่กี่ตระกูล หรือไม่ก็ต้องรอฝรั่ง รอญี่ปุ่น รอ FDI
พอมาเป็นระบบ Buffet Cabinet ข้อดีก็คือ "ระบบพรรคพวก"ไม่ถูกผูกขาดอีกต่อไป พ่อค้านักธุรกิจ มีจำนวนมากขึ้นที่เข้าถึงอำนาจรัฐ อำนาจรัฐหาซื้อได้ง่ายขึ้น ประกอบกับตลาดทุนคึกคัก บริษัทเงินทุนก็เติบโต ไม่ต้องพึ่งแต่เงินนายแบงค์ที่มีไม่กี่แห่งอีกต่อไป ช่วงสิบปีก่อนเกิดวิกฤติ มีการลงทุนโดยนักธุรกิจใหม่ๆเยอะ ทุกหน่วยราชการเร่งออกสัมปทาน เช่น โทรคมนาคม (ที่มีท่านทักษิณเป็นเจ้าใหญ่สุด) น้าเหลิมได้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ดูแล อสมท.ก็ออกสัมปทานเคเบิ้ลทีวี (ก็ได้ท่านทักษิณอีกแหละ) ทั้ง ทศท. กสท. ก็เร่งใหญ่ออกใบMonopoly ไปแบ่งขายกันเบิกบาน(จนตอนหลังตัวเองเจ๊ง เพราะห่วยเกินจะแข่ง) ส่วนรัฐวิสาหกิจทั้งหลายก็ขยายตัวกันสุดชีวิต เพราะศก.ขยายตัวดีกว่าปีละ10% ต้องขยายสาธารณูปโภครองรับ พ่อค้าทั้งหลายก็happy เข้าช่องเข้าหา ศูนย์อำนาจที่ดูแล ซื้อใบเบิกทาง เป็นที่สำราญเบ่งบาน
พอคึกคะนองมากๆ หาเงินได้ง่าย ลงทุนเกินตัว ก็เลยมี"วิกฤติต้มยำกุ้ง"ในปี 2540 วุ่นวายแก้ไขกันอยู่พักใหญ่ จนเลือกตั้งต้นปี 2544 "ไทยรักไทย"ชนะขาด และอยู่ยืนกว่าห้าปี ด้วยความที่มีความเชี่ยวชาญการบริหาร ก็เลยมีการ organize ระบบพรรคพวกนิยมใหม่ ไม่ใช่ระบบมินิauction แบบแต่ก่อน เพราะทำอย่างนั้น ประโยชน์ที่เกิดมันไปตกกับพ่อค้ามากไป ไม่efficient พอ เลยกลายเป็นมีลักษณะสองอย่าง อย่างหนึ่งคือ เกิดมีระบบสมาชิกถาวรระยะยาวใหม่(เพราะมีอำนาจต่อเนื่อง) และ เป็นระบบที่Systemic มากขึ้น ไม่มั่วซั่วเวลามีการเปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนคนเหมือนอย่างแต่ก่อน
ดร.ทักษิณ ท่านเป็นคนที่เข้าใจระบบ"พรรคพวกนิยม"อย่างลึกซึ้ง เพราะท่านเติบโตมาด้วยระบบนั้น และเป็นคนที่รักพรรค รักพวก ท่านสามารถบริหารจัดการ นักการเมืองทุกๆกลุ่ม ทุกๆแบบ ได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ (นักการเมืองล้วนเป็นสุดยอดมนุษย์กันทั้งนั้นครับ) และเป็นคนที่ใช้ระบบนี้ได้เก่งที่สุด
ปัญหามันคือ อันว่า"พรรคพวกนิยม"นั้น มีนิยามความหมายว่า "ใช้อำนาจช่วยให้พรรคพวกเราได้เปรียบเหนือคนที่ไม่ได้เป็นพวก" ซึ่งแน่นอนว่านานเข้า จะมีศัตรูมากกว่ามิตร เพราะถ้าทุกคนเป็นพวก ก็ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ใดให้ได้(จะไปเอาเปรียบใครล่ะครับ) หรือแม้มีมิตรมากกว่าศัตรู พรรคพวกก็จะได้ประโยชน์คนละน้อย ไม่หนำใจ ไม่คุ้มเป็นพวก จะให้ได้ประโยชน์มาก ต้องให้มีพวกน้อยราย และใช้อำนาจมากๆ เอาเปรียบคนอื่นๆให้แรงๆ พอทำอย่างนี้นานเข้าคนที่ถูกเอาเปรียบ เลยมีจำนวนมากกว่าคนที่ได้เปรียบเยอะ พ่อค้าที่ทนไม่ไหว เลยมีมากกว่าพ่อค้าที่เทิดทูน(ก็เวลาช่วย พวกท่านก็ไม่ได้ให้เปล่านี่ครับ แถมราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ) ยิ่งข้าราชการ ยิ่งมีคนที่ถูกเอาเปรียบ ถูกข้ามอย่างไม่เป็นธรรม (เพราะถ้าเป็นธรรมก็ไม่ได้ใช้อำนาจช่วยใคร) เยอะแยะมาก แถมคนที่เป็นพวก จะได้รับเกื้อหนุน ส่วนใหญ่ก็ต้อง"จ่ายราคา"ด้วยกันทั้งนั้น
สรุปว่า"พรรคพวกนิยม"นั้น ในที่สุดก็สร้างศัตรูจำนวนมากกว่า สร้างมิตร เห็นจำนวนพ่อค้า จำนวนข้าราชการที่ไปเป็น"มวลมหาประชาชน"ไหมครับ
3. เรื่องของ"คอร์รัปชั่น" ซึ่งแน่นอนว่าเป็นของคู่กันกับ "พรรคพวกนิยม" การโกงไม่ได้เพิ่งเกิดเพิ่งมี มันน่าจะเริ่มตั้งแต่เรามีประเทศเลยก็ว่าได้ แต่รูปแบบ ความกว้าง ความรุนแรงมันพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และก็เช่นกันครับ พัฒนาการมันย่อมเป็นไปตามบริบทที่เปลี่ยนไป อย่างยุคแรกของการโกง ก็มักจะเอาจากทรัพย์สินจากภาษีรัฐโดยตรง หรือไม่ก็โกงจากเงินช่วยเหลือจากตปท. หรือไม่ก็ออกกฎออกระเบียบให้การบริการประชาชนไม่สะดวกไม่คล่องตัว เปิดให้มีการใช้ดุลพินิจ จนคนต้องจ่ายเงินหล่อลื่นเพื่อซื้อความสะดวก ต่อมาก็ไปช่วยเอกชนให้ไม่ต้องแข่งขัน (เช่น ล็อคเสปคให้ จัดซื้อพิเศษ ฯลฯ) พอวิวัฒนาการมากขึ้นอีกก็เป็นเรื่องขายความได้เปรียบระยะยาว เช่น พวกสัมปทานMonopoly หรือ Oligopoly ต่างๆ (หลายครั้งถูกเรียกว่า คอร์รัปชั่นทางนโยบาย)
ถ้าจะเอาให้แฟร์ ความจริงคอร์รัปชั่นมันมีวิวัฒนาการของมัน และเบ่งบานเพิ่มขึ้น นวัตกรรมมากขึ้นตลอดมา แม้ในยุคที่ คุณอภิสิทธิ์แห่ง ปชป.เป็นนายกฯ ก็ไม่เห็นจะลดลง (ท่านอาจจะโทษพรรคร่วม ..แต่เอ๊ะ เรื่องโรงพัก เรื่องถุงยังชีพมันพรรคท่านเองนี่นา) แม้ยุค พลอ.สุรยุทธ จุลลานนท์ ก็ยังมีโกงกันไม่น้อย ถึงแม้คนในครม.ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวก็ตาม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คอร์รัปชั่น ในยุคของ ระบอบทักษิณ ถือว่าเบ่งบาน เป็นปัญหาใหญ่หลวงขึ้นทุกที จนกระทั่ง ประเทศไทย ถอยหลัง จากอันดับ 60 ของประเทศที่ดีที่สุดในปี 2000 มาเป็นอันดับ 102 ในปี 2013 ใน Corruption Perception Index ที่เพิ่งประกาศไปไม่กี่วันนี้ มันน่าเอาปี๊บคลุมหัวด้วยความอับอาย และพรรคของท่าน ก็บริหารประเทศถึงร่วมสิบปีในช่วงเวลานี้ ซึ่งถ้าพวกท่านไม่ทำเอง ก็ต้องโดนข้อหาว่าปล่อยให้มีการโกงกินมโหฬารในทุกด้าน และไม่เคยตั้งใจดำเนินการให้จริงจังได้ผลเลย ทั้งในด้านการปราบปราม และการป้องกัน
คอร์รัปชั่นทุกวันนี้ ลุกลามกว้างขวาง และพัฒนาการลึกซึ้งขึ้นทุกที เรียกว่าเป็น Systemic Corruption กันไปทั่ว บางอุตสาหกรรม เรียกได้ว่าเป็นระบบจนเรียกได้ว่า ไม่เหลือธุรกิจดีอยู่เลยก็ว่าได้ เช่น การก่อสร้างภาครัฐ มีคนบอกว่า โครงการ IT ภาครัฐ ก็เป็นเช่นเดียวกัน แถมมีเปอร์เซ็นสูงลิ่วกว่าสามสิบทั้งนั้น ซึ่งผมยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เพราะระบบพวกนี้ต้องใช้ระบบหลักจากบริษัท IT ชั้นนำของอเมริกาทั้งนั้น ซึ่งเขามีกฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act ซึ่งลงโทษรุนแรง ถึงแม้ร่วมมือเพียงเล็กน้อย (น่าเรียกร้องให้ Department of Justice ของไอ้กันมาสอบสวนดูนะครับ)
เมื่อก่อน เวลาเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมือง มักจะต้องลงไปรื้อไปโยกย้ายข้าราชการ"เพื่อให้เข้าขา" แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่ต้องเลยครับ ทุกอย่างเป็นระบบ มีวิธีการ มีกลไก มีนวัตกรรมไว้พร้อม ใครเข้ามา ก็แค่กดสวิทช์แล้วรอรับ ยกตัวอย่าง ปลัดกระทรวงใหญ่แห่งหนึ่ง ขุนสร้างมาโดยท่านจากสุพรรณ แต่งตั้งโดยท่านจากบุรีรัมย์ เปลี่ยนขั้วไป ท่านจากดอนเมืองก็ยังใช้บริการ ความมาแตกเอาตอนโจรขึ้นบ้าน แล้วตู้เสื้อผ้าแตก โจรตกตะลึง บอกว่ามีเป็นพันล้าน ขนไม่ไหว (แต่ท่านบอกมีแค่สิบ โจรน่าจะโกหกเว่อร์)
เรื่อง คอร์รัปชั่นนี้ หนีไม่พ้นที่จะถูกโจมตี ว่าเป็นจุดอ่อนใหญ่ของ "ระบอบทักษิณ" ถ้าจะบริหารประเทศต่อ มีทางเดียวต้องแก้จุดนี้ให้ได้ ต้องแสดงความจริงใจอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องเริ่มทำให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ได้
ความจริงยังมีเรื่อง มีเหตุการณ์อีกหลายอย่าง ที่ทำให้ความแตกแยกลุกลาม ต้องขอยกไปตอนหน้าอีกซักตอนนะครับ ผมอยากวิเคาะห์ทุกอย่างให้ละเอียด ก่อนที่จะเสนอแนวคิด ว่าเราควรจะเดินยังไงต่อไป
วันนี้ เขียนยาวที่สุดเป็นประวัติการ พบกันพรุ่งนี้อีกทีครับ
"ข้อเสนอต่อประเทศไทย" /5
ตอนที่ 5 : สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมรู้พลั้ง/2 ( 6 ธค.2556... วันเผด็จศึกเด็ดขาด..ครั้งที่ 6)
"ระบอบทักษิณ" (THAKSINOCRACY) คืออะไร..มีจริงหรือไม่..พัฒนามาอย่างไร
คุณนพดล ปัทมะ นักกม.ทุนอานันท์ฯ ที่ได้เนติบัณฑิตอังกฤษ บอกว่า "ระบอบทักษิณ"ไม่มีจริง...ถ้าอย่างนั้น"มวลมหาประชาชน"ก็คงกำลังต่อสู้อยู่กับลม กับเงา กับImage Illusion อยู่น่ะสิครับ
อ.เกษียร เตชะพีระ เคยให้นิยาม"ระบอบทักษิณ"ว่าเป็น "อาญาสิทธิ์ทุนนิยมจากการเลือกตั้ง" ( Elected Capitalist Absolutism) และมีนิยามอื่นๆอีกมาก ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ในสังคมประชาธิปไตยไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีพรรคการเมือง(ที่ไม่อิงกับอำนาจเผด็จการ) ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากเด็ดขาด กำหนดนโยบายได้เต็มที่ และที่สำคัญ เป็นพรรคที่มีคนคนเดียว กุมอำนาจอย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ และว่าอำนาจนั้น ย่อมเหมือนกันหมด เมื่อมีมากเกินไปไม่มีการถ่วงดุล ย่อมนำไปสู่การใช้จนเกินเลยได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะตั้งใจดีเพียงใด
สำหรับผม "ระบอบทักษิณ" เป็นแค่วิธีการ เป็นแค่กระบวนการ ที่คุณทักษิณใช้ ในการบริหารประเทศ ในการบริหารการเมือง และไม่ได้มีระบอบ ไม่มีทฤษฎีที่ตายตัว ไม่มีแม้แต่ปรัชญาที่เป็นแก่นเสียด้วยซำ้ ทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบท ตามสภาพสิ่งแวดล้อม ตามอำนาจต่อรองของฝ่ายต่างๆ ตลอดจนตามพลวัตรของโลก
แกนหลักของ"กลไกทักษิณ" ก็ผูกโยงอยู่กับ อำนาจ-การได้มาซึ่งอำนาจ-พรรคพวกนิยม-การกระจายรายได้สู่รากหญ้า-การชนะเลือกตั้ง-อำนาจ. วนเวียนอยู่อย่างนี้ โดยเจตนาดีที่อาจมีก็คือ ใช้ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์เข้ามากระตุ้น หวังให้เกิดความเจริญพัฒนาของประเทศตามนิยามสากล
ผมจะลองไล่ที่มา และพัฒนาการของสิ่งที่ผมจะขอเรียกว่า"กลไกแบบทักษิณ" ตามความเข้าใจของผมนะครับ
พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นนักธุรกิจที่ประสพความสำเร็จสูงมาก ความจริงท่านก่อร่างสร้างตัวมาจากระบบ"พรรคพวกนิยม"ล้วนๆ คือเริ่มต้นจาก บ.ชินวัตรคอมพิวเตอร์ ซึ่ง เป็นตัวกลางขาย IBM ให้กับหน่วยงานรัฐ (IBM ไม่ขายตรงให้รัฐ ต้องมีคนกลางมาประสานงาน จัดการตรงกลาง...ไม่รู้เพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐพูดปะกิดไม่ได้หรือไร) ต่อมาก็เริ่มได้สัมปทาน เช่น เพจเจอร์ติดตามตัวก่อน ตามมาด้วยโทรมือถือ เคเบิ้ลทีวี(จากน้าเหลิม) ดาวเทียม สายการบิน ฯลฯ จะเห็นได้ว่า ธุรกิจหลักที่สำเร็จยิ่งยวด จะมาจากสองปัจจัย คือ เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ สัมปทานรัฐ ใบอนุญาตพิเศษจากรัฐ (ซึ่งก็คือการซื้อ การเช่า Monopoly หรือ Oligopolyนั่นเอง) กับ มักจะเป็นเรื่องก้าวหน้า เป็นเรื่องวิสัยทัศน์อนาคต เป็นของใหม่ เทคโนโลยี่ใหม่สำหรับไทย (ข้อนี้เป็นคุณสมบัติดีของคุณทักษิณ ซึ่งภายหลังก็ได้นำมาใช้ในทางการเมืองเยอะ กล้าคิด กล้าทำ กล้าcreate สิ่งใหม่)
ถึงแม้ธุรกิจทุกอย่างจะเป็นเรื่องสัมปทาน เป็นเรื่อง"พรรคพวกนิยม" แต่คุณทักษิณ ไม่ได้แค่่ใช้ความได้เปรียบที่ซื้อหามาเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ องค์กรธุรกิจของท่านทุกอัน มีการบริหารสมัยใหม่ มีการพัฒนาคุณภาพตลอดเวลา ถือว่าเป็นองค์กรมาตรฐานสากล เทียบชั้นโลกาภิวัฒน์ได้ทีเดียว พอนำบริษัทเข้าตลาดหลีกทรัพย์ในปี 2533 ก็นับเป็นมหาเศรษฐีไทย คนหนึ่งตลอดมา
คุณทักษิณ เริ่มเข้าสู่การเมืองในปี 2537 โดยเป็น รมต.ต่างประเทศ สังกัดพลังธรรม ในสมัย ชวน1 แล้วก็มาเป็นรองนายกฯสมัยคุณบรรหาร กับมาเป็นรองนายกฯช่วงสั้นๆท้ายสมัย พลอ.ชวลิต หลังวิกฤติศก. 2540
ผมเดาว่า แรกเริ่ม คุณทักษิณ อาจแค่ต้องการทำการเมือง เพื่อพิทักษ์ เพื่อขยายอาณาจักรธุรกิจ เพราะทุกอย่างที่ต้องอาศัยอำนาจรัฐย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องต่อรองกับการเมือง การเข้ากุมอำนาจรัฐเสียเอง ย่อมทำให้ปลอดภัยไร้กังวล
ใ่นช่วงที่เข้าเป็นรองนายกฯในรัฐบาลของพลอ.ชวลิต หลังวิกฤติ (15 สค.- 6 พย. 2540) ผมได้มีโอกาสเจอ คุณทักษิณบ่นมาก ค่อนข้างหงุดหงิดกับวิธีแก้ปัญหาที่เชื่องช้า ไม่มียุทธศาสตร์ ท่านบ่นกับผมว่า "ถ้าให้ผมแก้ ใช้วิธี CEO พักเดียวก็จะดีขึ้นได้" ดังนั้น เมื่อพลอ.ชวลิตลาออก รัฐบาลชวน2 เข้ามาแก้ปัญหา รัฐธรรมนูญ 2540 มีผลใช้บังคับ พอกลางปี 2541 คุณทักษิณก็ตั้งพรรค "ไทยรักไทย" เพื่อเตรียมลงเลือกตั้ง
เคยมีผู้ใหญ่ที่ร่วมก่อตั้งพรรค เล่าให้ฟังว่า ตอนเริ่มต้น คุณทักษิณ ตั้งใจจะตั้ง "พรรคการเมืองคุณภาพ" โดยใช้พื้นฐาน"พรรคพลังธรรม" ที่ได้รับมรดกจากมหาจำลอง ร่วมกับคณะ"คนดี"ที่เคยยอมเสียสละเข้าป่าเพื่อพัฒนาชาติไทย (หลายท่านยังช่วยอยู่จนทุกวันนี้) แต่หลังจากประเมินดูแล้ว ทำอย่างนั้นคงไม่มีโอกาสได้บริหารประเทศแน่ หรือไม่ก็ต้องใช้เวลานานมาก ก็เลยเปลี่ยนวิธี หันไปใช้กลยุทธของท่าน เติ้ง เสี่ยว ผิง ที่ว่า "แมวขาว แมวดำ ไม่เป็นไร เอาไว้ก่อน เอาไว้จับหนู เสร็จแล้วค่อยคัดพันธุ์ ค่อยๆกลายให้ขาวทีหลัง" (การกลายกลับเป็นว่า แมวขาวตายเกือบเกลี้ยง)
จะสังเกตุได้ว่า ครม.ชุดแรกๆ ยังมีสมาชิกที่สังคมชื่นชมว่า"เป็นคนดี"อยู่ไม่น้อย แต่หลายท่านก็ค่อยๆทะยอยจากไป เช่น ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์. กระแส ชนะวงศ์ ฯลฯ คุณทักษิณเองก็เคยบ่นว่า พวกคนดีมักเปราะ นิดหน่อยก็ไม่อดทน สู้นักการเมืองอาชีพไม่ได้ อดทนได้ทุกอย่าง จะย้าย จะลดตำแหน่ง ลดบทบาท ก็ยังทนได้เสมอ อันนี้ตรงกับสุภาษิตจีนโบราณที่ว่า "พอมีอำนาจ คนดีมักจะถอยห่าง คนชั่วเข้าประชิด เพื่อเกาะกิน อำนาจอันหอมหวานนั้น"
ช่วงปี 2542-2543 พรรคไทยรักไทย สามารถรวบรวม สส.แชมป์เก่า จากพรรคต่างๆ ได้ถึง กว่า 130 คน พอเลือกตั้งต้นปี 2544 เลยชนะถล่มทะลาย ได้ สส.ถึง 256 คน แถมตั้งรัฐบาล 324 เสียง ฝ่ายค้านพิการ อภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่ได้เลย
พอเป็นรัฐบาล คุณทักษิณก็ใช้ฝีมือ ในการบริหาร มีการกระจายทรัพยากรได้ดี ประชานิยมที่ดี ที่เฉยๆ และที่ห่วย ระดม ทะยอยกันออกมา มีฝีมือ ขยายระบบนอกงบประมาณ ทำให้เงินสะพัด แปรรูป ปตท.ตลาดทุนเลยคึก เศรษฐียาจกhappyถ้วนหน้า ความหวังเบ่งบานทั้งสังคม (รายละเอียดอธิบายในตอนก่อนๆแล้วครับ)
หลังครบสี่ปี เลือกตั้งใหม่ 2548 "ไทยรักไทย"ยิ่งชนะถล่มทะลาย ได้ สส.376 คน (ปชป.ได้แค่96) แม้ในกรุงเทพฯยังกวาดเกือบเกลี้ยง เลยตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด โดนประท้วงมาก ในเรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องรวบอำนาจ เรื่องทำลายองค์กรอิสสระ รวมไปถึงความไม่จงรักภักดี แล้วเลยต้องยุบสภา พอเลือกตั้ง เมย.2549 เลยถูกบอยคอต ไม่มีใครลงสมัคร แล้วก็เลยเป็นโมฆะ แก้เกมไม่ทันเสร็จ 19 กันยายน2549 ก็ถูกปฏิวัติ แล้วก็เลยโดนคดี เป็นพรวน ถึงแม้พรรคที่ตั้งใหม่ ยังชนะเลือกตั้งได้ทุกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ราบรื่น จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นที่รับรู้ทั่วไป ผมนำมาเรียบเรียงใหม่เพียงเพื่อประกอบการวิเคราะห์ พัฒนาการของ"ระบอบทักษิณ" ซึ่งผมจะขอยกยอดไปเริ่มในตอนต่อไปนะครับ
"ข้อเสนอต่อประเทศไทย" /6. ....8 ธค. 2556
ตอนที่ 6 : เจาะวิเคราะห์"ระบอบทักษิณ" ...ข้อดี..ข้อด้อย..จุดรุ่งเรือง..จุดเสื่อมถอย..จุดตกตำ่
ผมปูพื้นมาเยอะ(ตั้ง 5 ตอนยาวๆ) จะขอวิเคราะห์จับประเด็น"ระบอบทักษิณ" (Thaksinocracy) เป็นข้อๆ นะครับ
1. ถ้ามองเจตนา (อย่างน้อยที่ประกาศออกมา) ในทางการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมของคุณทักษิณ ก็คือ จะเร่งสร้างการเติบโต และทำให้มีการกระจายลงสู่ชนชั้นรากหญ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีทั้งคู่ แต่อย่าลืมว่า ในความเป็นจริงจะต้องมีสมดุลในทุกมิติตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะทรัพยากรที่จะกระจายมีจำกัด ถ้าโตน้อย แต่กระจายเร็วไป ก็ต้องมีคนเดือดร้อน หรือถ้าจะไปเอาทรัพยากรอนาคตมากระจาย(ผ่านหนี้สาธารณะ) ก็จะเป็นภาระลูกหลาน และมีขีดจำกัดอยู่ดี การเติบโตที่ถาวรยั่งยืนมีทางเดียว คือต้องเพิ่มผลิตภาพ(Productivity) โดนรวม ของระบบศก.ให้ได้ แต่ที่ผ่านมามีเรื่องพวกนี้น้อย มีเพียงการใช้เทคนิคการบริหาร ยักย้ายถ่ายเท ลูบหน้าปะจมูก ซึ่งจะได้ผลก็แต่ระยะต้นเท่านั้น
2. การใช้ระบบ "พรรคพวกนิยม"อย่างเข้มข้น ในที่สุดจะเป็น"จุดตาย"ของระบอบเอง ลองนึกดูว่า ต้องการให้รากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ดีขึ้น ลืมตาอ้าปากได้ แต่ใช้"พรรคพวกนิยม"คือ ถ้าใครเป็นพรรคพวก ก็ต้องได้ดีต้องได้เปรียบ ต้องรำ่รวยสุดๆ เท่ากับว่า ใช้สองระบบปนกัน พวกบนสุดใช้Crony Capitalism เต็มที่ ส่วนข้างล่าง ใช้"กึ่งสังคมนิยม" สองอย่างมันสุดขั้วกัน "เข้ากันไม่ได้" เดินไปเรื่อยๆ "ข้างบนที่ไม่ใช่พวก" กับ "ตรงกลาง" ย่อมลำบาก ย่อมตายเกลี้ยง และถึงจะรวมแล้วไม่ได้เป็น"เสียงข้างมาก" แต่ถ้า"ถูกต้อน"ให้รวมตัวกันได้ ย่อมมีพลังมหาศาล เพียงพอที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย หรืออย่างน้อยก็ทำให้รัฐอยู่ในภาวะ"พิการ" ไม่สามารถบริหารได้ (ผมอยากจะพูดว่า"มวลมหาประชาชน"ทุกวันนี้ ไม่ได้ถูกจัดตั้งโดยท่านกำนัน หรือเกิดเพราะ พรบ.เหมาเข่ง หรอกครับ แต่"ระบอบทักษิณ"ต่างหาก สร้างเงื่อนไขจนสุกงอม กำนันไม่ทำก็จะเกิดขึ้นเองสักวันอยู่แล้ว)
คุณทักษิณเคยพูดว่า "จะไปยากอะไร อยากรุ่งเรืองก็มาเป็นพวกผม" แต่เชื่อเถอะครับ นั่นขัดกับหลักการ"พรรคพวกนิยม"อย่างมาก อย่างที่ผมเคยบอก ถ้าทุกคนเป็น"พวก" ก็ช่วยใครไม่ได้ อำนาจก็ไม่มีประโยชน์ Cronyism จะต้องพยายามให้มีสมาชิกน้อย จะได้เอาเปรียบได้มาก การเข้า"วงใน"เป็นเรื่องไม่ง่าย ไหนจะต้องแก่งแย่งเอาหน้า ไหนจะถูกกีดกัน กระบวนการใส่ร้ายป้ายสีเต็มไปหมด ยิ่งอำนาจรวมศูนย์ยิ่งยากเย็นทวีคูณ คนดีๆเค้าไม่สามารถกระเสือกกระสนได้ขนาดนั้น แมวขาวย่อมถูกกำจัดไม่ก็กลายพันธุ์ไป (ผมไม่ได้กำลังกล่าวหาว่าคนแวดล้อมท่านทุกคนเป็นคนไม่ดีนะครับ ...แต่ก็กล้าพูดว่า..มีไม่น้อย)
3. การ"คอร์รัปชั่น" ย่อมเบ่งบานตาม"พรรคพวกนิยม".. คุณทักษิณ เคยยืนยันว่า ท่านมั่งมีเหลือล้น แถมไม่ใช่คนฟุ่มเฟือย อย่างมากก็ชอบนาฬิกาดี กับไวน์ดีๆ มันไม่กี่ตังค์ จะเข้ามากอบมาโกยอีกทำไม ผมค่อนข้างเชื่อครับ(เชื่อคนง่ายน่ะ) ตอนแรกเจตนาดีมากจริง อย่างมากก็เพื่อปกป้องอาณาจักรธุรกิจ ...แต่พอตัดสินใจใช้ระบบ"พรรคพวกนิยม" พอตัดสินใจยอมใช้แมวดำ ก็หนีไม่พ้นต้องยอมให้มีการคอร์รัปชั่นบ้าง ไม่งั้นไม่มีทางเป็นที่นิยมของ"พรรคพวก"ไปได้
แถมการเมืองแบบที่ท่านใช้ หนีไม่พ้นต้องใช้ทุนมหาศาล(อย่างน้อยตอนเริ่มต้น) คุณทักษิณเคยพูดว่า"การเมือง...ใช้เงินน้อยกว่าที่เคยคิด"(ท่านว่า...เตรียมที่จะเสียสละน่ะ) นั่นก็เป็นเพราะ คนอื่นเค้าจ่ายแทนน่ะครับ แต่เชื่อเถอะครับ ..เรื่องอย่างนี้ ไม่มีการลงขันการกุศล คนจ่ายเพื่อหาทั้งนั้น แล้วมีหรือที่จะไม่ค้ากำไร ทุกคนเอากำไร สิบเท่าร้อยเท่าทั้งนั้น ความคิดที่ว่า"จะควบคุมให้โกงกินได้ตามสมควรเท่านั้น" เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไม่มีทางสร้าง"ดุลยภาพ แห่งคอร์รัปชั่น"ขึ้นมาได้
ดังนั้น ต่อให้ท่านไม่โกง ก็ต้องยอมให้คนอื่นโกง (ผมมั่นใจพันเปอร์เซ็น ว่าท่านก็รู้) ทีนี้ คำว่า"คนอื่น"มันมีแวดวงแค่ไหน ใกล้ไกลตัวขนาดไหน เป็นเรื่องที่ยากกำหนด ผมไม่แน่ใจว่า คุณทักษิณมีแผนอะไรที่จะลดจะกำจัด"การโกง"ในกระบวนการคัดพันธ์ุแมวของท่าน ถ้าไม่มี ระบอบนี้ก็จะต้องกินตัวเองจนล้มอยู่แล้วในที่สุด (ประเทศอาจล้มไปด้วยอย่างที่คุณ Marcos เคยทำ...ที่น่ากลัวมากคือ พรรคพวกเก่าของคุณmarcosดันไม่ล้มไปด้วย ยังมั่งคั่งมหาศาลจนทุกวันนี้)
ผมไม่ได้บอกว่า ถ้าคุณทักษิณไม่ขึ้นมา จะไม่มีการโกงนะครับ แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีการโกงกิน มากขึ้นเยอะ อย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธได้
4. ความเป็นนักบริหารแบบ CEO ซึ่งหมายความว่า ต้องการควบคุมปัจจัยทุกอย่างให้มากที่สุด ต้องการให้มีความไม่แน่นอนตำ่ที่สุด บวกกับความเก่ง ความมีประสิทธิผล(Effectiveness) ทำให้คุณทักษิณพยายามเข้าครอบงำองค์กรและกลไกคานอำนาจอิสสระที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และก็ทำได้ไม่น้อย วุฒิสภาแทบตกอยู่ในอาณัติ ทำให้องค์กรที่ตั้งโดยวุฒิสภาแทบจะถูก"สั่งได้"หมด (เหลือเพียงด้านศาล ที่มีคนบอกว่า ถ้าให้เวลาอีกสักพัก ท่านน่าจะ"เอาอยู่"ิ) ...นี่แหละครับ สุดยอด CEO ตัวจริง
แต่อย่างสุภาษิตที่Baron Acton ว่าไว้ตั้งแต่ปี1887 แล้วว่า ""Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men." อำนาจนั้นทำลายคนเสมอ เริ่มตั้งใจไว้ดีอย่างไร พอเดินไป อำนาจเข้ามาเกี่ยว ก็เบี่ยงเบนไปหมด
5. จริงๆแล้ว ผมเห็นว่า"พรรคการเมือง"ภายใต้คุณทักษิณ เป็นแค่การปรับจากระบบเดิม ที่รัฐบาลผสมมาจาก "พรรคร่วม"ต่างๆ เพียงแต่คุณทักษิณรวบเอาพรรค เอามุ้งต่างๆมารวมไว้ที่เดียว แล้วเริ่มบั่นทอนความสำคัญของหัวหน้ามุ้ง หัวหน้าก๊วน ให้มารวมศูนย์ที่ตน ยามตนแข็งแรง มุ้ง ก๊วน ต่างๆก็ศิโรราบ พออ่อนแอก็มีการแข็งเมืองบ้าง (ตอนปฏิวัติก็หายไปกลุ่มใหญ่ ตอนคุณสมชายโดนโละก็ไปอีกพวก) แต่ด้วยความเก่ง ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ ...อย่างคนที่เคยพูดว่า "มันจบแล้วนาย" มาวันนี้ท่านก็พิสูจน์แล้วว่า "มึงน่ะสิจบ..ไปทำทีมบอลไป๊"
เผด็จการรวมศูนย์ในพรรคอย่างนี้ ยิ่งกว่าระบบ Authoritarian ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียอีก ระบบแบบนี้ คนที่นั่งอยู่บนยอดปิรามิด ต้องเป็นสุดยอดอัจฉริยะ ซึ่งย่อมแน่นอนว่า หาตัวแทนไม่ได้ ระบบถูกออกแบบไว้สำหรับคนๆเดียว ไม่มีทางถ่ายทอดให้รุ่นต่อไปได้ (ลองนึกภาพคุณโอ้คมานั่งบริหารแทนสิครับ หรือแม้จะเอาสุดยอดฉลาดอย่างคุณโพคินก็ไม่น่าจะได้) เป็นระบบที่ไม่มีทางจะดำรงอยู่ได้นานอยู่แล้ว
6. ในตอนท้ายของรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่ต้นปี 2549 ถึงแม้จะมีเสียงในสภาท่วมท้น แต่การบริหารเริ่มยุ่งยาก มีการต่อต้าน จลาจลวุ่นวาย ต้องยุบสภา เลือกใหม่ก็ถูกboycott จนเป็นโมฆะ ผมคิดว่าคุณทักษิณก็รู้ตัวแล้ว ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ (ที่ผมห่วงอย่างหนึ่งคือ บอกว่าจะไม่เป็นรัฐบาลพรรคเดียวแล้ว ต้องแบ่งให้ท่านสุพรรณบ้าง ท่านโคราชบ้าง เดี๋ยวถูกรุม) ถึงกับให้สัญญาณว่า จะถอยไม่เป็นนายกฯ แต่ยังไม่ได้ทันทำอะไรก็ถูกปฏิวัติเสียก่อน และน่าแปลก ที่โพล 84% (สวนดุสิต)ออกมาว่าปชช.ยอมรับการปฏิวัติ (สงสัยเป็นโพลเสื้อเหลือง)
ผมคิดว่า การปฏิวัติ 2549 เป็นเรื่องแย่มาก ทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิด จะพัฒนาขึ้นต้องหยุดชะงัก คณะปฏิวัติ และรัฐบาล ก็ไม่ได้ทำอะไรเรื่องโครงสร้างใหญ่แต่อย่างใด สนช.ที่แต่งตั้งโดยคมช. ถึงจะเร่งออกกฎหมายเยอะแยะ แต่ก็ไม่มีเรื่องการปรับโครงสร้างใหญ่แต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสนอง Wish List ของชนชั้นบน กับมีเรื่องรากหญ้าบ้างก็เป็นภาคสวัสดิการประชาสังคมของรองนายกไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมเท่านั้น
ในแง่ของคุณทักษิณ ที่ถูกดำเนินคดี ย่อมคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ความเห็นผมเองก็เห็นใจไม่น้อย อย่างเรื่องคดีที่ดินรัชดาที่ถูกจำคุก ความจริงเป็นการซื้อการประมูลอย่างเปิดเผย ที่มีเรื่องเทคนิค ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ซื้อจะขอความร่วมมือกับผู้ขาย ทีผู้ขาย(ธนาคารแห่งประเทศไทย) ทำไมไม่มีความผิด ทั้งๆที่รู้ทุกอย่าง ร่วมดำเนินการทุกอย่างตั้งแต่ต้น
คดียึดทรัพย์เพราะเหตุรำ่รวยจากกรณีภาษีสรรพสามิตก็เหมือนกัน ไปตีความว่าลดส่วนแบ่งรายได้ให้ ทั้งๆที่คนจ่ายจ่ายเท่าเดิม แล้วไปเทียบมูลค่าหุ้นก่อนเข้าเป็นนายก กับตอนขาย ยึดทรัพย์ไป 46,000 ล้านบาท ผมยิ่งว่าทะแม่ง เพราะตอนแรกเข้า SET Index แค่ 300 แต่ตอนขายหุ้นให้ TAMASEK ดัชนีปาเข้าไปเกือบ 800 ถ้าเรื่องนี้ได้ประโยชน์มิชอบ ทำไมไม่ยึดของผู้ถือหุ้นอื่น อย่างDTAC หรือ TRUE ด้วย (ผมก็ตะแบงเหมือนกัน)
7. พอหลังปฏิวัติ ระบอบทักษิณ ก็เปลี่ยนไปอย่างมาก ความเป็นนักสู้กับความเก่งอย่างเหลือเชื่อของคุณทักษิณ ทำให้ยังกุมอำนาจอยู่ได้ จะถูกยุบพรรคกี่ครั้ง ก็ยังกุมอำนาจรัฐกุมหัวใจชาวรากหญ้า และ organize พรรคพวกเดิมอยู่ได้
แต่เชื่อเถอะครับ การบริหารประเทศ การบริหารพรรคพวกจะยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทางตันในที่สุด
การ"บริหารทางไกล"ในเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง กับเรื่องที่มีพลวัตอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่"เป็นไปไม่ได้" ข้อมูลข่าวสารที่ได้ ยากที่จะครบถ้วน ยากที่จะถูกต้อง ยากที่จะทันเวลา คนที่ตะเกียกตะกายไปหา ไปรายงานก็ย่อมเป็นพวกที่มี Agenda ทั้งนั้น ทุกเรื่องมีวาระแฝง มีโอกาสถูกบิดเบือนได้สูง
ทั้ง 7 ข้อ เป็นการพยายามเรียบเรียง พยายามวิเคราะห์ เพื่อเข้าใจคำว่า"ระบอบทักษิณ" โดยพยายามมองจากมุมที่เป็นกลาง ไม่ได้ตั้งอยู่บนอคติใดๆ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อจำกัดความรู้ความเข้าใจของผมนะครับ
ถึงตอนนี้...ผมขอสรุปว่า "ระบอบทักษิณ" หาได้เป็นลัทธิใดๆไม่ เป็นเพียงกระบวนการที่สร้างขึ้นมาเพื่อบริหารการเมือง และก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และผมก็เชื่อว่า มาถึงจุดปัจจุบัน ก็ไม่สามารถเดินต่อแบบเดิมได้อีก ถ้าจะดันทุรังไป ถึงจะมีชัยชนะได้ ก็จะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น มีความสุ่มเสี่ยงมากว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายใหญ่หลวง
ใครก็ตามที่มีส่วนร่วมอยู่ในระบอบนี้ โดยที่มีเจตนาดี ต่อบ้านเมือง ต่อรากหญ้าแท้จริง น่าจะตระหนักในความจริงนี้ และพร้อมที่จะปรับ จะหันมาร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ทิ้งให้พวกที่เข้ามาสู่ระบอบนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันมิชอบต้องถูกโดดเดี่ยวเถอะครับ (แต่ตามข้อเท็จจริง พวกหลังมักจะชิ่งก่อนได้ทุกที)
ใครก็ตามที่ต่อต้านระบบนี้ ก็ขอให้ต้านด้วยความเข้าใจ อย่าเพียงต้านด้วยอคติท่าเดียว อย่าลืมว่ามีคนหลายสิบล้านที่ยังชื่นชม จะต้องประสานกันเท่านั้นจึงจะสู่เป้าหมายโดยสงบสุขได้
ส่วนข้อเสนอของผมว่า ควรจะทำอย่างไร จะอยู่ในตอนต่อไปนะครับ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อเสนอที่เฉียบคมอะไร ไม่ใช่กระบวนการวิเศษที่จะแก้ปัญหาได้ทันใด ไม่ใช่แก้ได้วันนี้พรุ่งนี้ ไม่ถึงกับพูดได้ว่า เบ็ดเสร็จเป็นบูรณาการ แถมอาจไม่ถูกต้องใช้ได้ไปทั้งหมด แต่ผมก็หวังว่า จะมีส่วนที่เป็นประโยชน์บ้างแม้เล็กน้อยสำหรับอนาคต แค่นั้นก็ภูมิใจสุดๆแล้วครับ
แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่า จะเป็นข้อเสนอที่กลับไปสู่สังคมเอาเปรียบ ไม่เห็นใจชาวรากหญ้า กลับไปสู่สังคมอำมาตย์ กลับไปสู่ระบบ Buffet Cabinet ที่คุ้นเคย
และก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ทันการด้วยครับ เพราะพรุ่งนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไร ใครชนะ เรื่องนี้ยังไม่จบแน่นอน ยังต้องฟัดกันอีกนานหลายยก
นอกจากจะเกิดสงครามกลางเมือง....ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ข้อเสนอใดๆก็ไม่มีประโยชน์แล้วครับ
"ข้อเสนอต่อประเทศไทย"/7. (12 ธค. 2556)
ตอนที่ 7 : เราจะออกจากกับดักความขัดแย้ง แล้วเดินหน้าต่อกันอย่างไร
ทั้ง 6 ตอนที่ผ่านมา ผมพยายามเรียบเรียงที่มา พัฒนาการของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตลอดสิบสองปีที่ผ่านมา จนกระทั่งนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรง การแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างชัดแจ้ง ด้วยความหวังว่า ความเข้าอกเข้าใจถึงรากฐานปัญหา โดยเฉพาะเข้าใจถึงความคิดของฝั่งตรงข้าม จะช่วยนำมาซึ่งกระบวนการแก้ปัญหาที่ถาวรอย่างสงบสุข
ความรู้ ความเข้าใจของผมอาจจะไม่ครบถ้วน อาจจะไม่รอบด้าน หรือแม้อาจไม่เป็นกลาง แต่เป็นการพยายามมองปัญหาอย่างไร้อคติ ไร้เจตนาร้ายต่อสังคมฝ่ายใด (อย่างน้อยก็ในความคิดของผม)
ถึงวันนี้ถึงนาทีนี้ ผมคิดว่าเรายังไร้ทางออกที่สงบสุขแท้จริง ความขัดแย้งยังคงอยู่ และถ้ากระบวนการแก้ไขไม่ราบรื่น ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ หรือแม้ถ้าฝ่ายรัฐบาลจะยอมถอยสุดซอย คือยอมลาออก ไม่รักษาการณ์ ให้ตั้งรัฐบาลรักษาการม.7 แต่สุดท้ายก็ยังต้องมีการเลือกตั้ง (ถ้าตามรธน.ก็ใน 60 วัน) หรือไม่ก็ยังอาจมีมวลชนของอีกฝ่ายลุกมาขับไล่ รัฐ ม.7 ได้ทุกเมื่อ
ผมไม่มีข้อเสนอทางออกในระยะสั้นหรอกครับ ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ ...ที่จะเสนอ เป็นเรื่องการแก้ไขโครงสร้างในระยะยาว เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความสงบสุขกลับคืนมาเสียก่อน ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นผู้บริหารประเทศ ก็น่าจะเริ่มกระบวนการได้อย่างจริงจัง ถ้ามีความจริงใจในการแก้ปัญหาประเทศไทย
มีคำสำคัญอยู่ 5 คำ 1. ความเหลื่อมลำ้. 2. พรรคพวกนิยม. 3. คอร์รัปชั่น 4. ผลิตภาพที่แท้จริง 5.บทบาทอำนาจรัฐ เป้าหมายของข้อเสนอผมมีง่ายๆครับ ข้อ1. ข้อ2. ข้อ3. จะต้องลดต้องขจัดให้ลดน้อย จนถึงหมดไป(ข้อ3.) ให้ได้ ส่วนข้อ4. จะต้องหาทางเพิ่มให้ได้ ส่วนข้อ 5. นั้นจะต้องปรับให้เหมาะสม เพิ่มบางเรื่อง ลดบางเรื่อง กระจายเสียให้มาก หาสมดุลให้ได้
ฟังดูเหมือนง่ายๆ แต่ทั้งห้าเรื่อง มีเงื่อนไข มีพัฒนาการ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถแก้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยละเลยด้านอื่นๆ เหมือนที่ผมคิดว่าคุณทักษิณ อาจมีเจตนาดี ต้องการแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ดันใช้ระบบพรรคพวกนิยม ยอมให้มีโกงกิน และมุ่งแต่จะใช้อำนาจรัฐ ทรัพยากรรัฐ ละเลย ไม่ได้ทุ่มเทที่จะปรับปรุงผลิตภาพที่แท้จริง ก็เลยมาสะดุด
แล้วเราจะไปถึงจุดนั้น จุดที่สังคมสงบสุข มีพัฒนาการอย่างยั่งยืน มีการกระจายที่ดีตามควร อยู่ร่วมกันได้ มีความเป็นธรรมสูง เป็นสังคมอารยะ ได้อย่างไร
มันไม่มีทางเลือกหรอกครับ เราต้องเริ่มจากจุดที่เป็นอยู่จริง ...มันไม่มีทางลัดหรอกครับ มันต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน...มันไม่มีทางมีอัศวินคนเดียวกลุ่มเดียว ขี่ม้าขาวมาบันดาลให้หรอกครับ มันต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน อย่างน้อยก็จากคนส่วนใหญ่ของประเทศ ....มันไม่มีทางได้มาจากชัยชนะในการต่อสู้ของสองฝ่ายหรอกครับ มันต้องมาจากการทำความเข้าใจในความต้องการของอีกฝ่าย แล้วปรับเข้าหากัน ....มันไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยความเกลียดชังหรอกครับ มันต้องมาจากความรัก ความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
จุดเริ่มต้น....สังคมจะต้องรับรู้ถึงปัญหาว่ามันคืออะไรกันแน่ อย่าเริ่มที่อคติความเกลียดชัง ในที่นี้ผมขอเสนอว่า รากฐานของปัญหาที่ลึกที่สุดคือ "ความเหลื่อมล้ำ" และ ระบบศก.โดยรวมมีผลิตภาพตำ่
...ขั้นที่สอง มาหาสาเหตุที่มาของของปัญหา ซึ่งในทางศก. ก็ย่อมได้แก่ ไม่มีการปรับปรุงผลิตภาพ แถมมีภาคส่วนที่เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีการกระจายทรัพยากร กระจายโอกาส ทั้งนี้มีระบบพรรคพวกนิยม กับการคอร์รัปชั่น เป็นแกนของความบิดเบือนทั้งมวล
...ขั้นที่สาม มาสรุปแนวทางหลัก ที่จะใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งต้องมาวิเคราะห์ว่า แนวเดิมที่เคยใช้ ไม่ว่าในระบอบทักษิณ ระบอบ Buffet Cabinet มันไม่ดี ไม่ work ยังไง การเพิ่มบทบาทอำนาจรัฐ ไม่น่าจะตอบโจทย์ได้ ประชานิยมที่ไม่ช่วยเพิ่มผลิตภาพก็ช่วยไม่ได้ แถมสิ้นเปลืองบิดเบือน จนนำไปสู่หายนะในอนาคต และแน่นอน การทำลาย การสร้างกลไกไม่ให้ พรรคพวกนิยม ไม่ให้คอร์รัปชั่น ดำรงอยู่ได้ เป็นวาระสำคัญ เร่งด่วนที่สุด
...ขั้นที่สี่ ถึงจะมาวางกลยุทธรายละเอียด ในแต่ละเรื่อง ว่าการลดการปราบโกงจะทำอย่างไร การไม่ให้คนชั้นบนเอาเปรียบทำอย่างไร การกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากร การกระจายบริการพื้นฐานนั้นทำอย่างไร เวลาเราพูดถึงคำว่ากระจาย ก็แปลตรงๆอยู่แล้วว่า เอาของกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง (Redistribution) ดังนั้น แผนการต้องดี ชัดเจน ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ฝ่ายที่ต้องให้เข้าใจและรับได้ แผนต้องสอดคล้องบูรณาการกัน
ที่จริง ขั้นตอนที่ผมนำเสนอ ก็แค่เป็นการน้อมนำแนวทาง "อริยะสัจ 4" ของพระพุทธองค์มาเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร
และแน่นอนครับ... ที่ผมวิเคราะห์ นำเสนอ ย่อมยังไม่ครบ ไม่รอบด้านทุกอย่าง มันเป็นเพียงแนวที่จะดำเนินการ โดยมุ่งเน้นในเรื่องเป็นไปได้ และไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย จนเกิดการหยุดชะงัก เสียหายหลายสิบปี ยังต้องมีกระบวนการศึกษา กระบวนการวางแผน กระบวนการดำเนินการอีกมากมาย
ในความเห็นของผม... ทั้งหมดนี่ ถ้าจะให้ดี มันต้องเริ่มที่ "มวลมหาประชาชน"นี่เองแหละครับ พวกเราต้องสำนึกก่อนว่า เราเป็นกลุ่มคนที่โชคดี ได้โอกาสที่ดี เริ่มตั้งแต่ ได้เกิดมา ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้โอกาสรับการศึกษาที่ดี อยู่ในสังคมที่ดี ได้เข้าถึงทรัพยากร ได้มีชีวิตที่ดี (ผมค่อนข้างแน่ใจ ว่าคนที่ชั่วโดยสันดาน คนขี้ฉ้อขี้โกง ไม่มี หรือมีอยู่น้อย ในกลุ่มผู้ที่ออกไปอยู่บนท้องถนนนะครับ)
ที่สำคัญ...เราต้องมองเห็นผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา อย่างเข้าอกเข้าใจ อย่างเห็นใจ ถึงแม้เขาจะไม่ชอบ จะเกลียดชังเรา เราก็ต้องรู้จักอภัย และเราต้องมีความคาดหวังให้เขาดีขึ้น ต้องยอมให้มีการกระจายทรัพยากร กระจายความมั่งคั่งให้เขา ถ้าไม่อย่างนั้น เขาก็จะถูกพวกที่ไม่ได้หวังดีจริง ไปหลอกไปลวง ด้วยอกุศโลบาย และอามิสต่างๆ จนพวกเราเองเดือดร้อนในที่สุด
FB Banyong Pongpanich 4/12/2564
ในข้อเสนอบนเวที ผมเห็นด้วยหลายอย่าง เช่น การกระจายอำนาจ ทั้งผู้ว่าฯ ตำรวจ การปราบโกง ซึ่งผมเชื่อว่าต้องเกิดต่อไปอย่างแน่นอน (ความจริงในข้อเสนอของ กก.ปฏิรูป ชุดท่านอานันท์ ยังมีที่ดีอีกหลายข้อ ค่อยๆนำมาปฏิบัติได้
ส่วนในระยะสั้น ...ถามว่า ผมมีข้อเสนออะไร ที่เราจะออกจากวิกฤติครั้งนี้ ผมยอมรับว่า ไม่มีแนวคิดวิเศษอะไรหรอกครับ เพียงแต่อยากบอกว่า ถึงแม้จะต้องมีการเลือกตั้งตามกำหนด ถึงแม้พรรคเดิมจะได้เป็นรัฐบาล แต่ประเทศเราจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่มีทางที่ใครจะทำอะไรตามใจโดยไร้หลักการ ไร้เหตุผล ไร้คุณธรรมได้เหมือนเดิมอีกแล้ว กระบวนการปฏิรูปโดยประชาชนได้เริ่มขึ้นแล้ว และจะไม่หยุด (ไม่ได้หมายถึง และไม่เคยเห็นด้วยกับคณะคุณบรรหารนะครับ คณะนั้นควรยุบถาวร)
เรามาจัดตั้งกระบวนการปฏิรูปคู่ขนาน ที่คอยกระทุ้ง คอยกำกับ คอยเป่านกหวีด ให้ใครก็ตามที่ได้รับเลือกมาบริหารประเทศต้องอยู่ในกรอบ ที่จะต้องทำให้ ทุกอย่างดำเนินไปสู่ประโยชน์สุขอย่างทั่วถึง อย่างยั่งยืน ไม่ดีกว่าหรือครับ ยังมีกลไกอื่นๆ ที่ถึงแม้ไม่ได้ระบุกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดๆ แต่สามารถมีพลังร่วมสร้างสรรค์สังคมได้โดยไม่ต้องมีความรุนแรง (เช่น สถาบันวิจัยสร้างสรรค์และตรวจสอบนโยบายสาธารณะ สื่อมวลชนที่ดีมีคุณภาพ ภาคประชาสังคม) มาร่วมทำร่วมสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิด ดีกว่าจะมารบกันเยอะครับ
ผมพยายามวิเคราะห์ปัญหาโดยละเอียด พยายามเสนอทางออกอย่างเต็มที่ เท่าที่ความรู้ความสามารถของผมจะทำได้ เพียงหวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นเพียง"ไทยเฉย" เพราะออกไปเป่านกหวีดแค่สองครั้ง ไปอนุสาวรีย์แค่ 2 ครั้ง ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเลิก พรบ.เหมาเข่ง พอเขาเลิก ก็ไม่ไปอีกเลย
ขอจบบทความเรื่องนี้แค่นี้นะครับ และหวังว่าเหตุการณ์ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี
Father's day by Banyong Pongpanich (FB)
จดหมายเปลี่ยนชีวิต....จากพ่อ ถึงลูกชายวัยรุ่นใจแตก (5 ธันวาคม 2557)
วันนี้เป็นวันพ่อ....มันทำให้ผมคิดถึงพ่อเป็นพิเศษ ...ความจริงผมไม่ได้คิดถึงท่านเฉพาะในวันพ่อหรอกครับ ผมมักคิดถึงท่านเสมอๆ แต่ก็ได้แต่คิด เพราะท่านจากไปตั้งแต่สี่สิบปีที่แล้ว ...จากไปอย่างกระทันหัน อย่างที่ทุกคนในครอบครัวไม่ได้ตั้งตัว(ถูกฆาตกรรม)
...ถึงทุกอย่างจะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเสียใจตลอดมา ก็คือ ผมแทบไม่เคยได้ทำอะไรที่เป็นที่ทดแทนคุณพ่อในยามที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เลย ตรงกันข้าม กลับมักจะทำแต่เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจให้ท่าน สร้างแต่ความกังวล ความเป็นห่วง ...เมื่อท่านจากไป ผมได้แต่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในวันฌาปนกิจ คือ ดูแลแม่ ช่วยเหลือเกื้อกูลรักใคร่สามัคคีในเหล่าพี่น้อง กับ ทำตัวให้เป็นคนดีมีประโยชน์ ให้ประสบความสำเร็จตามควร ...หวังเพียงแต่ว่า ถ้าท่านหยั่งรู้ได้ จะได้ดีใจ สบายใจ และภูมิใจในลูกหัวดื้อคนนี้
ในปี 2513...สี่ปีก่อนที่พ่อจะจากไป ตอนที่ผมอายุแค่ 16 ปี เรียนอยู่ มศ.4 ที่วชิราวุธวิทยาลัย ผมก็ได้สร้างเรื่องที่เนรคุณ ทำให้ท่านต้องกลัดกลุ้มกังวลเป็นอย่างมาก ...จากความที่เป็นวัยรุ่นหลงผิด ทะนงตน จองหองอวดดี ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ต้องเล่าเรียนหนังสือ ทำตัวผิดวินัยโรงเรียนอยู่เป็นนิจ ...พ่อได้รับแจ้งจากทางโรงเรียน ให้เดินทางจากต่างจังหวัดเข้าพบ พระยาภะรตราชา ผู้บังคับการของวชิราวุธฯ เป็นการด่วน เพื่อรับรายงานความประพฤติของเด็กที่มีปัญหา ที่โรงเรียนอาจจะต้องให้ออก
ภายหลังการเข้าพบกับท่านผู้บังคับการ ...พ่อรู้ดีว่า การพูดคุยกับวัยรุ่นใจแตกอย่างผมนั้นคงเป็นการเสี่ยงเกินไป พ่อเลยตัดสินใจใช้วิธีเขียนจดหมายแทน ....มันเป็นจดหมายที่เขียนด้วยความตั้งใจอย่างมาก เป็นจดหมายที่ยาวมาก ถึงแปดหน้า (ผมเชื่อว่าพ่อน้อยคนที่จะมีความมานะเขียนจดหมายถึงลูกยาวขนาดนี้) เป็นจดหมายที่ผมอ่านเป็นหลายสิบเที่ยวในสี่สิบปีที่ผ่านมา
ถึงมันจะเป็นเรื่องส่วนตัว ...เป็นเรื่องของคนสองคน แต่ผมคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับ ผู้ที่เป็นพ่อ และ ผู้ที่เป็นลูกอื่นๆได้บ้าง นอกจากนั้น ในจม.ยังมีการกล่าวถึงครูผู้มีพระคุณ ซึ่งเปรียบเสมือนพ่ออีกคนหนึ่งของผมอีกด้วย ...เลยขออนุญาตนำมาบันทึกไว้นะครับ....(ยาวมากนะครับ)
ที่บ้าน 26 ตุลาคม 2513
ตั้วลูกรัก
พ่อเพิ่งกลับจากไปส่งลูกๆที่โรงเรียน ตอนแรกตั้งใจจะไปหาเพื่อน แต่แล้วต้องงด เพราะจิตต์ใจพ่อไม่สบายเลย ถึงแม้ลูกจะเกริ่นให้พ่อฟังแล้วตั้งแต่เมื่อคืน และพ่อได้มีเวลาคาดคิดไว้ก่อน โดยลำดับภาพการกระทำและนิสสัยใจคอของลูกเท่าที่เคยสดุดตา สดุดใจพ่อ ตั้งแต่ลูกเพิ่งรู้ความจนลูกเติบโตมาเป็นหนุ่มน้อยขนาดโตกว่าพ่อนี้
จดหมายฉบับนี้ พ่อเขียนไว้ตั้งแต่พ่อกลับจากโรงเรียน และตั้งใจจะให้ลูกอ่านหลังจากพ่อได้พูดกับลูกโดยตรง ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ลูกจะแก้ตัวอย่างไร พ่อก็เชื่อว่าจะดีกว่าวาจาที่พ่อพูดไป ซึ่งบางทีจะไม่ฝังในจิตใจและความจำของลูกได้มาก เพราะขณะที่พ่อพูด พ่ออาจจะไม่มีจิตใจสงบเหมือนตอนที่พ่อเขียน ลูกก็เช่นกัน อาจจะมีอารมณ์และความนึกคิดลำเอียงเข้าข้างตัวและใจคออุปนิสัยของตัวเอง ไม่ได้หยิบยกข้อเท็จจริงพิจารณาโดยถ่องแท้ เจตนาของพ่อก็คือ ให้ลูกได้ใช้เวลาพิจารณาเรื่องต่างๆโดยถ่องแท้และใช้เวลาอันสมควร
พ่อเชื่อและมั่นใจว่า ทุกอย่างที่ผู้บังคับการได้พูดกับพ่อเกิดจากความรักลูก รักสถาบันวชิราวุธ และไม่ได้ทำเพราะอารมณ์หลงจากคำฟ้องหรือความจงเกลียดจงชังลูก ผู้บังคับการสามารถบอกนิสัยใจคอลูกให้พ่อฟังเหมือนกับที่พ่อรู้จักลูกเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเองต้องมีความรัก ความเป็นห่วง และได้ไตร่ตรองทุกอย่างโดยละเอียดถี่ถ้วนในฐานะผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบปกครองนักเรียนซึ่งพ่อแม่มอบหมายเป็นร้อยๆคนต่อปี และได้เคยปั้นเด็กให้เป็นคนดีเป็นพันเป็นหมื่นคนแล้ว
พ่อเองพ่อไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าผู้การจะสละเวลาและให้การต้อนรับพ่ออย่างที่ได้รับในเชัาวันนั้น พ่อคิดว่าอย่างมากท่านคงจะบอกให้พ่อทราบถึงความผิดของลูก และบอกให้พ่อตักเตือนลูกโดยใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับการ ซึ่งมีอำนาจเต็มที่จะชี้ขาดอะไรต่ออะไรเกี่ยวกับโรงเรียนวชิราวุธโดยเด็ดขาดได้ ตามที่เคยได้ยินลูกๆและเพื่อนของลูกของพี่โตพูดถึงกัน แต่กลับผิดคาดอย่างนึกไม่ถึงเลยว่าท่านจะปฏิสันฐานกับพ่อเช่นที่พ่อได้พบ ซึ่งพ่อถือว่าเป็นเกียรติของพ่อในฐานะบิดาของสานุศิษย์ท่านคนหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงลักษณะและจิตใจอันบริสุทธิ์และอุดมการณ์ของผู้ใหญ่ในวงการศึกษาที่แท้จริง การแสดงออกของท่านในความห่วงใยและสนใจต่อศิษย์เป็นสิ่งที่จะพบเห็นได้ในครูอาจารย์รุ่นที่พ่อเป็นนักเรียน ซึ่งหาได้ยากยิ่งในครูอาจารย์สมัยนี้ คือ ท่านมิได้ถือแต่เป็นครูผู้สอนวิชาความรู้ให้นักเรียนเท่านั้น ยังถือตัวเองเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นผู้ปกครองแทนพ่อแม่ของศิษย์ไปด้วย ซึ่งลูกจะเข้าใจได้จากสิ่งที่พ่อจะเขียนต่อไป
พอลูกเข้าโรงเรียนไปแล้ว พ่อตรงไปยังOffice และไปถามครูคนหนึ่งในห้องนั้นว่าพ่อจะพบผู้การได้อย่างไร ครูบอกว่าท่านกำลังเตรียมจะไปประชุมนักเรียน ซึ่งจะพบได้ก็หลังจากการประชุมแล้วเท่านั้น ให้พ่อคอยก่อน พอดีผู้การออกมาจากห้องตอนนั้นเตรียมตัวไปหอประชุม ครูผู้นั้นเรียนท่านว่าพ่อเป็นบิดาของลูก พอท่านทราบท่านก็ตรงมาหาพ่อบอกว่าดีแล้วที่ได้พบ เพราะมีเรื่องที่จะปรึกษาเกี่ยวกับลูกหลายอย่าง พร้อมกันนั้นได้หันไปสั่งกับครูผู้นั้นให้ไปบอกให้ครูจิตต์หรือครูอรุณไปแทนท่าน แล้วเชิญพ่อไปพบในที่ทำงาน ซึ่งถ้าเป็นครูหรืออาจารย์ใหญ่โรงเรียนอื่น อย่างมากที่พ่อจะได้รับก็ "อ้อ! ผมกำลังจะไปประชุม โปรดคอยก่อนนะ" อะไรเทือกนั้นเท่านั้น
ในห้องทำงานของท่านๆได้เล่าเรื่องต่างๆของลูกที่ได้ทำไปในปีการศึกษานี้ ทั้งในเรื่องการเรียน เรื่องกีฬา และกิจกรรมนอกเวลาอื่นๆซึ่งพ่อจะพูดกับลูกต่อไป พร้อมทั้งท่านได้ชี้แจงถึงความต้องการและเจตนาของท่านเองที่มีต่อลูก ซึ่งทุกข้อพ่อเห็นด้วยว่าตรงกับพระราชประสงค์ของร.6 องค์ผู้ให้กำเนิดรร. และเป็นแนวปฏิบัติของโรงเรียน Public School ทั่วไป ที่ต้องการสร้างคนที่มีความรู้ ซึ่งกอร์ปด้วยคุณลักษณะทางจิตใจที่เหมาะกับสังคมทุกชั้น และมีสุขพลานามัยสมบูร์ทุกประการ
จากคำพูดและท่าทีตลอดจนการแสดงออกอื่นๆของผู้การ ทำให้พ่อซึ้งว่าโดยส่วนตัว ท่านผู้การเคยรักและเอ็นดูลูกเองอยู่ตลอดมา เมื่อลูกมีการเปลี่ยนแปลง ท่านก็ได้ติดตามการกระทำ ความประพฤติของลูกอย่างใกล้ชิด โดยลูกเองไม่รู้สึก หรือรู้สึกแต่เข้าใจไปเสียในทางตรงกันข้าม ท่านบอกว่าท่านเองก็ไม่อยากจะแจ้งความไม่ดีให้พ่อรู้ แต่ท่านได้พยายามตักเตือนและให้เวลาแก่ลูกมาพอสมควรแล้ว ซึ่งลูกก็รู้สึกตัวเป็นคราวๆและแก้ไขตัวเองได้ แต่พอเวลาล่วงเลยมาไม่นานลูกก็กลับไปตามเดิมอีก ท่านบอกว่าท่านเสียดาย เพราะท่านเคยหวังไว้ว่าลูกจะเป็นคนหนึ่งในหลายคนที่จะมีส่วนสร้างชื่อเสียงและสนับสนุนโรงเรียน เพราะ มีการเรียนดี สติปัญญาก็ดี อีกทั้งเป็นนักกีฬาได้รอบตัวด้วย ถึงกับท่านได้เคยตั้งใจที่จะให้ลูกเป็นหัวหน้าคณะและอื่นๆต่อไป ถ้าไม่ขัดด้วยการเปลี่ยนแปลงของลูกในตอนหลังๆนี้
ลูกรัก พ่อเชื่อว่าท่านผู้การยังรักและหวังดีต่อลูกอยู่ จึงได้เรียกพ่อไปพบ และขอให้พ่อได้พูดตักเตือนลูกด้วยตนเอง และท่านว่าเนื่องจากลูกอยู่ในความปกครองของท่านมาเป็นเวลา 7-8 ปีซึ่งนับว่าใกล้ชิดกับท่านมากกว่าพ่อเอง แต่ถ้าลูกยังไม่ปรับปรุงตัวเองให้อยู่ในกรอบข้อบังคับและในประเพณีที่ดีงาม ท่านก็เสียดายที่ต้องตัดสินใจไปในทางที่ท่านต้องทำ เพื่อสถาบันการศึกษา"วชิราวุธ"แห่งนี้ เพราะตัวท่านเองเทอดทูลสถาบันนี้ไว้อย่างสูง สิ่งใดที่ท่านเห็นว่าไม่ดีงาม ท่านก็ต้องตัดใจกระทำเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่นักเรียนอื่นๆอีกหลายร้อยคน ท่านว่าหลังจากพบกับพ่อแล้ว ท่านเชื่อว่าด้วยความรักที่ลูกมีต่อพ่อและโอกาสที่พ่อจะได้พูดกับลูกนานๆในปลายเดือนนี้(คือวันที่ 31 ตค.) ซึ่งสำหรับตัวท่านเองไม่มีโอกาสที่จะทำเช่นนั้นเป็นส่วนตัวกับลูก ท่านมั่นใจว่าลูกจะกลับเป็นลูกตั้วคนเดิมซึ่งสนใจในการเรียน การกีฬาเพื่อหมู่คณะ ฯลฯ และท่านจะได้มีโอกาสมอบหมายและแต่งตั้งลูกในตำแหน่งต่างๆซึ่งท่านมีเจตนาไว้เดิม เพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นตัวแทนท่านในโรงเรียน
ท่านยังพูดว่า ท่านเชื่อว่าพ่อคงจะเข้าใจท่านดีในฐานะที่เคยเรียนใน Public School ระบบเดียวกันกับวชิราวุธ และท่านจะพบและพูดเพียงครั้งเดียวเท่านี้ เพราะถ้าพ่อไม่สามารถชี้แจงให้ลูกรู้เจตนาของท่านและทำให้ลูกเปลี่ยนแปลงกลับคืนได้ ก็สุดความสามารถของผู้อื่นที่จะมีอิทธิพลเหนือจิตใจของลูกได้ ท่านก็จำเป็นต้องตัดใจทำในสิ่งที่ไม่อยากทำในเทอมนี้ หรือปลายปีนี้ แล้วแต่เหตุการณ์บังคับ
ลูกรัก พ่อจากผู้บังคับการมาด้วยความรู้สึกสองอย่าง อย่างแรกพ่อภูมิใจที่พ่อตัดสินใจถูกที่ขวนขวายมอบหมายลูกพ่อถึง 4 คนให้เข้าวชิราวุธนี้ และภูมิใจที่ผู้ปกครองอื่นเป็นร้อยเป็นพันคนมอบหมายลูกๆให้กับสถาบันแห่งนี้ ที่มีครูอาจารย์แบบผู้บังคับการเป็นผู้รับผิดชอบ พ่อภูมิใจที่ครั้งหนึ่งลูกเคยได้ความรักและได้สร้างความหวังให้แก่ผู้ใหญ่เช่นผู้บังคับการคนนี้ ในขณะเดียวกันพ่อก็เสียใจที่ได้ทราบถึงพฤติกรรมหลายอย่างของลูกซึ่งแสดงตอบแก่สถาบันนี้และผู้บังคับบัญชาซึ่งรักลูกจริงๆ พ่อเกรงเหลือเกินว่าถ้าพ่อไม่สามารถจะทำให้ลูกเข้าใจและปรับปรุงตัวเองได้สำเร็จ พ่อจะต้องประสพเหตุการณ์แบบพี่โตอีกเป็นครั้งที่สอง ลูกคงไม่เข้าใจถ้าพ่อจะบอกว่ารู้สึกเสียใจในการตัดสินใจของพ่อจนทำให้พี่โตต้องจากวชิราวุธอันเป็นที่รักยิ่งเพียงไร(พี่โตย้ายไปเรียนที่เทพศิรินทร์ตอนมศ. 4) เมื่อพ่อได้ยินพี่โตพูดกับยื่น เมื่อส่งสนับแข้งขาวให้ยื่นพร้อมกับพูดว่า "ต่อไปไม่มีโอกาสใช้มันอีกแล้ว" คำพูดนี้เหมือนมีดร้อยเล่มพันเล่มเฉือนใจพ่อ และพ่อก็ยังรู้สึกและจำติดใจทุกวันนี้
ลูกรัก ก่อนที่พี่โตและลูกๆจะรู้ความ พ่อและแม่ได้พยายาม ขวนขวาย ที่จะให้ลูกได้มีสถานศึกษาที่ดี ที่เชิดหน้าชูตา เป็นที่พากภูมิพอกับลูกผู้อื่น พ่อแม่และผู้ปกครองอีกไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนคนที่ต้องการจะให้บุตรอันเป็นสุดที่รักของตนเข้าสู่สถาบันแห่งนี้ และมีกี่หมื่นกี่แสนคนที่ต้องผิดหวังเพราะไม่สามารถจะทำได้สำเร็จแม้จะรำ่รวยเพียงไร ผิดกับโรงเรียนอื่น ซึ่งเพียงแต่มีเงินก็ยัดเยียดเข้าได้ พ่อและแม่บอกกับเพื่อนฝูงและญาติทุกคนอย่างภูมิใจว่าลูกของพ่อเรียนอยู่วชิราวุธ วันที่ลูกของพ่อสำเร็จจากวชิราวุธจะเป็นวันที่พ่อปลาบปลื้มจนตัวลอย ลูกคงรู้ว่าพ่อแม่มีความหยิ่ง ความภูมิใจในโรงเรียนของลูกแค่ไหน และลูกคงจะคาดคิดได้ว่าพ่อจะรู้สึกอย่างไรถ้าลูกจะต้องถูกออกจากสถาบันแห่งนี้กลางคัน ในสถานะผู้ถูกให้ออก และการนี้จะกระทบกระเทือนถึงน้องตั๋งน้องเต้ยแค่ไหน สำหรับพ่อเองพ่อกลัวจริงๆว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนั้น ถ้าเป็นไปเช่นนั้น พ่อกับแม่คงจะเป็นคนที่โชคร้ายที่สุดที่มีแต่เหตุร้ายทับถมกันไม่ขาด ลูกคงรู้แล้วว่าระยะนี้พ่อเป็นเช่นไร พ่อหวังอยู่อย่างเดียวคือความสำเร็จและอนาคตของลูก สิ่งปลอบใจที่พ่อมีอยู่ก็คือ ลูกๆพ่อเป็นคนดี ตั้งใจเรียน และได้เรียนในที่ที่ดี มีความประพฤติตัวเป็นที่เชิดชู ถ้าจะพูดให้ชัดอีกก็คือ ลูกๆเท่านั้นที่เป็นชีวิตของพ่อ
พ่อว่าลูกคงมีความเข้าใจผิดในตัวผู้บังคับการของลูก และคงจะไม่เข้าใจที่พ่อยกย่อง พ่อจะยกตัวอย่างที่ใกล้ชิดคือ อาว์สมโชค และอาว์สมพร (เลขะกุล) ตอนที่ทั้งสองสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาแล้วนั้น มีฐานะแย่มาก อาว์สมโชคว่างงาน อาว์สมพรไปช่วยก๋งซึ่งขาดทุนในกิจการก่อสร้างฐานะย่ำแย่ แต่ผู้บังคับการก็ยังรักห่วงใยคอยเกื้อหนุนอุ้มชู ลูกก็เห็นว่าผู้การสนับสนุนคำ้ชูอาว์สมโชคอย่างไร อาว์ทั้งสองรักและเคารพผู้การจะรองก็แต่พ่อแม่เท่านั้น ตัวอย่างที่ใกล้ชิดในวงญาติเราเท่านี้พอหรือยังที่จะชี้ชัดได้ว่าท่านเป็นคนเช่นไร
เรื่องต่างๆเหล่านี้ พ่อจะไม่บอกให้แม่และน้าพาซึ่งรักและหวังดีกับลูกเหมือนพ่อ เพราะพ่อมั่นใจเหลือเกินว่าความรักระหว่างเราพ่อลูก คงจะพอที่จะทำให้ลูกพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ และสิ่งที่พ่อกลัวคงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นจริงทั้งแม่และน้าพาคงจะโทษพ่อที่ไม่บอกให้รู้ แต่พ่อมั่นใจของพ่อว่ามันจะไม่เกิด
พ่อเขียนมายาวแล้วลูกอาจจะเบื่อ แต่เมื่อเขียนแล้วก็อยากจะเขียนให้สมกับที่คิด อีกประการหนึ่ง ถึงแม้จะได้พบกันอยู่เสมอ พ่อก็ไม่ได้พูดกับลูกๆมากนัก เพราะพ่อไม่อยากพูดเรื่องของลูกต่อหน้าน้องๆ เว้นแต่จะเป็นเรื่องดีควรภูมิใจ
พ่อได้พบกับครูของรร.ลูกคนหนึ่ง เป็นครูซึ่งพ่อรู้ว่าเป็นคนดีและลูกๆพ่อเคยพูดถึงเสมอด้วยความเคารพ พ่อได้ขอทราบความรู้สึกของตัวครูเองต่อลูกในแง่ต่างๆ ซึ่งพอสรุปได้ว่า ในด้านการเรียนลูกมีความสามารถดี แต่บางคราวก็ขาดความกระตือรือล้น ส่วนในความประพฤติทั่วไป ลูกไม่ค่อยจะมีคารวะต่อครูอาจารย์เท่าที่ควร ส่วนกับเพื่อนๆลูกมักจะชอบข่ม แสดงตัวว่าสูงกว่า ครูได้ยกตัวอย่าง เช่นในการแข่งขันแบดมินตัน ลูกเคยแสดงลำพองอวดตัวเมื่อชนะและดูแคลนผู้แพ้ ซึ่งอาจจะแสดงโดยไม่รู้สึกแต่ถ้าแก้ไขได้ก็จะดียิ่ง ส่วนในด้านกีฬา ลูกจัดว่าเล่นได้ทุกอย่างแต่ไม่ค่อยจะขมักเขม้นในการฝึกซ้อมจริงจัง ซึ่งเรื่องเหล่านี้พ่อเห็นด้วยกับครูผู้นั้น ลูกต้องแก้ไขดัดอุปนิสัยของตนเอง ครูหรือผู้ใหญ่ทุกคนหวังที่ได้รับการคารวะ ความรักจากผู้น้อย เพื่อนก็หวังจะได้รับความรักการยกย่องจากเพื่อน ซึ่ง SPIRITที่ว่า ลูกคงจะพบมาแล้วเป็นร้อยเป็นพันครั้ง "จงแสดงต่อผู้อื่น เหมือนที่เราต้องการจะได้รับจากเขา"
ไหนๆพ่อก็เขียนมายาวแล้ว ถ้าพ่อจะแถมหลักการและวิธีการปกครองของโรงเรียนมัธยมที่พ่อเรียน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับของโรงเรียนลูกคงไม่ยาวจนเกินเบื่อ และเป็นประโยชน์แก่ลูกบ้าง
โรงเรียนพ่อ Penang Free School เป็นโรงเรียนที่เก่าที่สุดในมลายู คือสร้างเมื่อต้นศตวรรษที่19 ดำเนินการสอนและปกครองแบบ Public School ของอังกฤษ เรียนหนังสือแต่ตอนเช้าถึงบ่ายโมง ตอนบ่ายเป็นเวลา Recreation แบ่งเป็น 3 หน่วยคือหน่วยยุวชน หน่วยลูกเสือ และหน่วยกายบริหาร ส่วนกีฬามีทุกอย่างเหมือนโรงเรียนลูกเว้นแต่สควอช การเรียนตอนเช้าแบ่งเป็น FORM กับ SET โดยพวกที่คำนวณเก่งอยู่ FORM A ลดหลั่นกันลงไป และถือพวกภาษาดีอยู่ SET A เป็นโรงเรียนประจำมี 5 คณะ
แต่ละคณะครูผู้ปกครองและครูประจำคณะจะเลือกประธานเรียกว่า CAPTAIN จากนักเรียนในคณะ และมีคณะกรรมการและเลขา ซึ่งเลือกจากนักเรียนเหมือนกัน คณะกรรมการเหล่านี้จะเป็นผู้ช่วยควบคุมนักเรียน และรับผิดชอบในการแข่งขันกีฬาทุกชนิด
ส่วนการปกครองทั่วไป โรงเรียนมีคณะหัวหน้านักเรียน 13 คน เรียกว่า School Prefects โดยผู้อาวุโสที่สุดจะได้รับแต่งตั้งให้เป็น Head Boy การแต่งตั้งนี้คณะหัวหน้านักเรียนจะประชุมเลือกขึ้นมา โดยแต่ละคนเสนอชื่อได้ 3 ชื่อ ถือหลักเอาจาก การเรียน ความประพฤติ และการสังคม คณะหัวหน้านักเรียนจะเลือกคนที่ดีเด่น 20 คนเสนอต่ออาจารย์ใหญ่ ซึ่งจะประชุมครูทั้งโรงเรียนเลือกให้ได้เพียงตำแหน่งที่ว่างจนครบ 13 คน ซึ่งปีหนึ่งมีตำแหน่งที่ว่างไม่กี่ตำแหน่ง เนื่องจากมีชั้นเตรียมมหาวิทยาลัยลอนดอนด้วย นักเรียนที่สำเร็จแล้ว ถ้าได้Grade ไม่ดี อาจารย์จะไม่ออกใบสุทธิให้เข้ามหาวิทยาลัย ต้องเรียนเตรียมใหม่จนกว่าจะได้หรืออายุเกินกำหนด การเลือกเฟ้นตัวPrefectจึงเข้มข้นมาก
ที่พ่อเล่าเรื่องนี้ เพราะท่านผู้บังคับการพูดถึงเรื่องนี้กับพ่อเกี่ยวกับลูก ว่าถ้าลูกทำตัวเป็นปกติเหมือนก่อนๆ และแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วได้ ท่านได้ตั้งใจและกำหนดไว้นานแล้วที่จะให้ลูกเป็น แต่ถ้าลูกยังแก้ไม่ได้ นอกจากจะยกย่องให้เป็นหัวหน้าไม่ได้แล้ว ยังจะกีดขวางผู้อื่นๆ โดยอาวุโสของลูกควรจะเป็นแต่ไม่ได้เป็น การจะเป็นผู้ใต้ควบคุมของผู้อื่นที่ด้อยกว่าจะทำให้ยุ่งยากกับการปกครอง
พ่อว่าพ่อเขียนมายาวเหยียดเกินไปละ แต่เชื่อว่าลูกอ่านแล้วคงไม่ใช่อ่านผ่านไปเฉยๆแบบอ่านหนังสืออ่านเล่น ป.อินทรปาลิต ลูกคงจะนำไปคิด และถ้าจดหมายฉบับนี้ทำให้ลูกนึกคิดและปรับปรุงตัวให้สมกับที่ทุกคนเชื่อ ตอนที่ลูกได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า พ่อ แม่ และน้าพาจะเป็นคนที่มีความสุขที่สุด สำหรับพ่อจะพิเศษกว่าคนอื่น เพราะพ่อรู้ว่าลูกเอาชนะตนเองได้แล้ว และภูมิใจว่าลูกรักและเชื่อฟังพ่อจริง ไม่ถือเอาทิษฐิมานะผิดๆเป็นที่ตั้ง สิ่งไหนที่รู้ว่าผู้ใหญ่ไม่ชอบต้องแก้ไข ไม่ดึงดันถือใจตนเป็นใหญ่ซึ่งจะเป็นภัยแก่ตัว
พ่อรักลูกและเชื่อว่าลูกคงรักและเชื่อฟังพ่อ
พ่อ
ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อความในจดหมายที่พ่อเขียนถึงผมเมื่อปี 2513 เมื่อผมเป็นวัยรุ่นอายุ 16
ถึงพ่อจะจากพวกเราไปกว่าสี่สิบปีแล้ว แต่ที่ผมมีผมเป็นอยู่ทุกวันนี้ มีส่วนไม่น้อยที่มาจากรากฐานที่ท่านกล่อมเกลาสั่งสอน ที่ท่านตั้งวางเอาไว้ ...ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าท่านหยั่งรู้ ท่านจะไม่ผิดหวังกับผลผลิตที่ท่านเริ่มต้นเอาไว้
ขอให้ทุกท่าน ทำดีให้พ่อภูมิใจ ดูแลท่านให้ดี ก่อนที่ท่านจะไม่อยู่ให้ดูแลนะครับ
วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563
วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
ขนมครกม้วน
เมื่อไม่มีเตาขนมครก เลือกทำ“ขนมครกม้วน” แบบใช้กระทะ เห็นแล้วว้าว
เผยแพร่: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
- หน้าหลัก SMEs อาชีพแก้จน
วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562
BakKutTeh
โดย พชร ธนภัทรกุล
---คัดมาบางส่วน---
บักกุ๊ดเต๋ (肉骨茶เสียงฮกเกี้ยน)
สูตรบักกุ๊ดเต๋
ส่วนประกอบสำคัญ คือเครื่องยาจีน ได้แก่
เง็กเต็ก (玉竹) กุ้ยกี (桂枝) เส็กตี้ (熟地) ตังกุย (當歸) ชวงเก็ง (川芎) ซัวเซียม (沙蔘)
เน็กกุ่ย/อบเชยจีน (肉桂) กำเช่า/ชะเอมจีน (甘草) อึ่งคี้ (黃耆) ห่วยเฮียง/ยี่หร่า (茴香)
เฮ็กจ้อ/พุทราจีนดำ (黑棗) เต็งเฮียง/กานพลู (丁香) เซียมชิว/รากฝอยโสมเอี่ยเซียม (蔘鬚)
เก๋าคี่/เก๋ากี้ (枸杞) เถ่งพ้วย/เปลือกส้มจีน (陳皮) เม็ดพริกไทยขาว (白胡椒)
โป๊ยกัก (八角) ห่วยซัว (淮山) กุยอี่เน็ก/เนื้อลำไยแห้ง (桂圓肉)
ทั้งหมด 19 อย่างๆละ 10 กรัม
วิธีทำ ยาจีนส่วนที่เป็นผงหรือเม็ดเล็กๆ เช่น ยี่หร่า กานพลู ให้ใช้ผ้าขาวบางห่อไว้ ส่วนยาจีนชิ้นใหญ่ ก็ใส่ต้มในน้ำได้เลย ใช้น้ำประมาณ 2 ลิตร ต้มจนน้ำเดือดสัก 20 นาที ตักเครื่องยาจีนขึ้นจากหม้อ แล้วปรุงรสแต่งสีน้ำซุปด้วยซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ เกลือ จากนั้นใส่ซี่โครงหมู เห็ดหอมลงต้ม เดือดแล้วลดเป็นไฟอ่อน ตุ๋นต่อไปอีกหนึ่งชั่วโมง ใส่ ตามด้วยผักสด เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี เห็ดเข็มทอง เห็ดอื่นๆ เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ (ส่วนนี้แล้วแต่ชอบ) เดือดแล้ว ดับไฟ ตักจัดขึ้นโต๊ะได้
หมายเหตุ 1.ยาจีนที่ให้มาแต่ละอย่างมีน้ำหนักค่อนข้างมาก อย่างน้อยก็บ่งต้มได้ 3 ครั้ง แต่ถ้าไม่อยากให้มีกลิ่นยาจีนแรงไป ก็แบ่งต้มเป็น 4 ครั้ง โดยใช้ยาจีนอย่างละ 2-3 กรัมเท่านั้น
2.กานพลู ยี่หร่า มีกลิ่นค่อนข้างแรง ใส่น้อยหน่อยได้ เม็ดพริกไทยขาว ต้องตำให้แตก เพื่อให้หอมขึ้น
3. ตัวยาจีนเส็กตี่ ทำให้น้ำซุปมีสีเข้มขึ้นอยู่แล้ว อย่าใส่ซีอิ๊วมากไป จะได้ไม่เค็มเกินไปด้วย
4.ถ้าไม่ชอบให้มีกลิ่นยาจีนแรงเกินไป ต้มครั้งแรกแล้วให้ตักเครื่องยาออกจากหม้อ แต่ถ้าชอบกลิ่นยาจีน ต้มครั้งต่อไป ก็ไม่ต้องตักเครื่องยาจีนออกจากหม้อ
5.ควรล้างซี่โครงหมูให้สะอาดก่อน ถ้าใส่หมูสามชั้นด้วย ให้ต้มลวกหมูสามชั้นก่อน เพื่อขจัดคราบสกปรกออก แล้วหั่นเป็นชิ้น เอาลงต้มพร้อมซี่โครงหมู
6. ถ้าอยากให้น้ำซุปหวานขึ้น ให้ใส่โครงไก่และขาไก่ลงต้มด้วย
วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562
วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561
วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561
วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560
จุดจบที่ร้อนแรงของยานอวกาศ Cassini และอนาคตของการสำรวจดาวเสาร์
จุดจบที่ร้อนแรงของยานอวกาศ Cassini และอนาคตของการสำรวจดาวเสาร์
เผยแพร่: โดย: สุทัศน์ ยกส้าน
เมื่อเวลา 4.55 นาฬิกา (เวลาในแคลิฟอร์เนีย) ของวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ยานอวกาศ Cassini ของ NASA ได้จบชีวิตการสำรวจดาวเสาร์ และดวงจันทร์บริวาร หลังจากที่ได้โคจรวนรอบดาวเสาร์ 293 รอบ นับตั้งแต่ได้เริ่มออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.2004 ไปได้ระยะทางไกล 8,000 ล้านกิโลเมตร เป็นเวลา 13 ปี ได้ถ่ายภาพร่วม 450,000 ภาพ ได้พบดวงจันทร์ของดาวเสาร์ 7 ดวง จากทั้งหมดที่มี 62 ดวง ได้เห็นดวงจันทร์ Enceladus และ Titan ว่ามีศักยภาพพอจะเป็นดาวที่มีสิ่งมีชีวิตนอกโลก ฯลฯ และเมื่อยานใกล้จะหมดเชื้อเพลิง NASA ได้บังคับให้ยานทำลายตนเองด้วยการพุ่งด้วยความเร็ว 34 กิโลเมตร/วินาที ลงเสียดสีกับบรรยากาศของดาวเสาร์ จนตัวยานซึ่งทำด้วยอลูมิเนียม และพอลิเมอร์เป็นวัสดุหลักถูกเผาไหม้กลายเป็นดาวตกเหนือฟ้าของดาวเสาร์ แต่ยานก็ยังได้ส่งสัญญาณคลื่นวิทยุกลับมายังโลก ตราบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
ยาน Cassini ได้รับการตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ผู้มีชื่อว่า Giovanni Cassini ซึ่งได้ไปทำงานในฝรั่งเศส เพราะได้รับการเชื้อเชิญจากพระเจ้า Louis ที่ 14 ซึ่งมีพระฉายาว่า Sun King ให้เป็นผู้อำนวยการที่หอดูดาวแห่ง Paris เพราะมีผลงานดาราศาสตร์ที่โดดเด่นมากมาย เช่น ได้พบเวลาที่ดาวพฤหัสบดี และดาวอังคารใช้ในการหมุนรอบตัวเอง ได้พบดวงจันทร์ 4 ดวงของดาวเสาร์ คือ Iapetus ในปี 1671 ดวงจันทร์ Rhea ในปี 1672 และดวงจันทร์ Dione กับ Tethys ในปี 1684 ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งของ Cassini ในการศึกษาดาวเสาร์ คือ ในปี 1675 เขาได้พบช่องว่างระหว่างวงแหวนของดาวเสาร์ที่มีชื่อเรียกว่า Cassini’s division ซึ่งแบ่งวงแหวนออกเป็นสองส่วน และยังได้คำนวณระยะทางที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ยได้ค่าประมาณ 140 ล้าน กิโลเมตร (ต่ำกว่าค่าจริง 7%) ซึ่งบอกให้ผู้คนในสมัยนั้นรู้ขนาดของระบบสุริยะเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังได้วัดขนาดและรูปทรงของโลกจนพบว่าไม่กลม คือ ป่องตรงบริเวณเส้นศูนย์สูตร ความสำเร็จเหล่านี้ ทำให้ Cassini เป็นคู่แข่งคนสำคัญของ Newton และทำให้ได้รับเชิญให้ไปทำงานดาราศาสตร์ในฝรั่งเศสเพื่อแข่งกับ Newton ในอังกฤษ ในบั้นปลายชีวิต ตาทั้งสองข้างของ Cassini บอดสนิท และเสียชีวิตในปี 1712 สิริอายุ 87 ปี
แม้ยาน Cassini จะดับสูญไปแล้ว แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำงานในโครงการ Cassini มานานเป็นเวลาร่วม 30 ปีก็ยังเดินหน้าต่อไป เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากยาน ตลอดจนถึงต้องวางแผนไปสำรวจดวงจันทร์ Enceladus กับ Titan ในอนาคตด้วย
เพราะในปี 2005 ยาน Cassini ได้โคจรผ่าน Enceladus ที่ระยะใกล้ และพบว่าบริเวณขั้วใต้ของดาวมีอุณหภูมิสูงกว่าขั้วเหนือ อีก 10 ปีต่อมา เมื่อยานโคจรผ่าน Enceladus อีกคำรบหนึ่งที่ระยะใกล้ 500 กิโลเมตร ยานได้เห็นน้ำพุร้อนพุ่งออกมาจากรอยแยกของผิวน้ำแข็ง การวิเคราะห์องค์ประกอบของของเหลวที่ถูกพ่นออกมาแสดงให้เห็นว่า มันเป็นน้ำปนแอมโมเนีย เกลือ คาร์บอนไดออกไซด์ และไฮโดรเจน ข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า ในทะเลใต้น้ำแข็งของ Enceladus มีภูเขาไฟ เพราะมีการพบสาร silica ในน้ำพุร้อน และการที่ silica จะถือกำเนิดได้ อุณหภูมิของน้ำที่เป็นแหล่งให้กำเนิดมันจะต้องสูงใกล้จุดเดือด ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า จะมีสิ่งมีชีวิตในทะเลบน Enceladus
ในสมัยก่อนที่ Cassini จะพบทะเลใต้ผิวของ Enceladus นักดาราศาสตร์เคยเชื่อกันว่า ในระบบสุริยะมีแต่โลก และดวงจันทร์ Europa ของดาวพฤหัสบดีเท่านั้นที่มีทะเล การค้นพบทะเลโดยยาน Cassini จึงมีความสำคัญมาก เพราะได้ปฏิรูปความรู้ของเราเกี่ยวกับระบบสุริยะพอสมควร
ยาน Cassini ยังมียานลูกชื่อ Huygens ที่ได้ถูกปล่อยลงสำรวจดวงจันทร์ Titan ด้วย ยานตั้งชื่อตาม Christiaan Huygens ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ที่โชคไม่ดี เพราะเกิดร่วมยุคกับ Isaac Newton นั่นคือถ้าโลกนี้ไม่มี Newton Huygens ก็ได้เป็นนักฟิสิกส์ระดับซุปสตาร์ในสมัยนั้นไปแล้ว Huygens เกิดเมื่อปี 1629 (รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) บิดาเป็นกวีที่มีชื่อเสียงมากในเนเทอร์แลนด์ และเป็นลูกที่บิดามีความภูมิใจมากจนถึงกับเรียก Huygens ว่าเป็น Archimedes ของพ่อ ผลงานที่โดดเด่นของ Huygens คือ การสร้างนาฬิกา pendulum ที่เดินได้เที่ยงตรง ในปี 1656 เมื่อได้พบว่า ถ้าลูกตุ้มแกว่งตามเส้นโค้ง cycloid ที่ไม่ใช่ส่วนโค้งของวงกลม นาฬิกาที่ Huygens ประดิษฐ์นี้ได้กลายเป็นนาฬิกาจับเวลาที่ดีที่สุดในโลก ในคริสต์ศตวรรษที่ 17
สำหรับผลงานดาราศาสตร์นั้น Huygens คือคนที่พบดวงจันทร์ Titan ของดาวเสาร์เป็นคนแรก ในปี 1655 หลังจากที่ได้พบวิธีที่ดีในการฝนแก้วทำเลนส์ และใช้เลนส์สร้างกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัส 7 เมตร ซึ่งมีประสิทธิภาพดีมากจนสามารถเห็นวงแหวนล้อมรอบดาวเสาร์ได้ชัด หลังจากที่ใครๆ รวมถึง Galileo เคยเห็นว่า ดาวเสาร์มีลักษณะไม่เหมือนกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ของระบบสุริยะ เพราะบางเวลามีรูปร่างไม่กลม และเปลี่ยนรูปร่างคือไม่คงตัวในเวลาต่อมา บางครั้งเห็นเสมือนมีดาวขนาดเล็ก 2 ดวงโคจรอยู่ใกล้ดาวเสาร์ แต่บางครั้งก็ไม่เห็น ฯลฯ Huygens จึงใช้จินตนาการแบบก้าวกระโดด โดยเสนอความเห็นว่า ดาวเสาร์มีวงแหวนล้อมรอบ และการที่ดาวเสาร์ดูมีรูปร่างต่างๆ นั้น เพราะวงแหวนของมันเอียงทำมุมต่างๆ กับระดับสายตาของคนบนโลก เช่น ถ้าตาคนดูอยู่ในแนวเดียวกับระนาบของวงแหวน เขาก็จะไม่เห็นวงแหวน คือ เห็นเฉพาะขอบ และเวลาโลกโคจรอยู่เหนือหรือใต้ระนาบของวงแหวน แถบวงแหวนก็จะดูกว้างและกลม
แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Huygens คือ การพบว่าแสงเป็นคลื่นชนิดหนึ่ง ความเห็นนี้จึงขัดแย้งกับความคิดของ Newton ผู้เชื่อว่า แสงเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กต่างๆ กัน และเคลื่อนที่เร็วมาก ในตำรา Treatise on Light ที่ Huygens เขียน เขาได้บรรยายว่า ในอวกาศมีสาร ether และแสงจะเคลื่อนที่ไปใน ether ในลักษณะคลื่นที่แผ่ออกไปเป็นวงกลม โดยมีหน้าคลื่น (wavefront) จากนั้นจุดทุกจุดบนหน้าคลื่นจะทำหน้าที่ปล่อยหน้าคลื่นต่อออกไปเรื่อยๆ แต่ Newton ไม่เชื่อเช่นนั้น จึงโจมตีทฤษฎีคลื่นของแสงที่ Huygens เสนอ ในตำรา Optick ที่ Newton เขียนในปี 1704 คนทั้งสองจึงเป็น “ศัตรู” ทางความคิดกัน การค้นหาความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของแสงนี้ในเวลาต่อมาปรากฏว่า คนทั้งสองมีส่วนถูก เพราะทั้งอนุภาคและคลื่นต่างก็เป็นสมบัติของแสง ในทำนองเดียวกับการที่เหรียญมีสองหน้า
โลกดาราศาสตร์ในช่วงเวลานั้นจึงมีบรรยากาศ “การแข่งขันกัน” มาก เพราะที่ปารีสมี Cassini ซึ่งเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ผู้ชอบสำคัญตนว่าเป็นชาวฝรั่งเศส (แต่จริงๆ เป็นชาวอิตาเลียน) และชอบทำงานระดับอภิมโหฬาร เช่น ศึกษาดวงอาทิตย์ จนพบว่า ดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่กว่าโลกมาก ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นใครๆ ก็คิดว่า โลกมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอกภพ และได้พบอีกว่านอกจากดวงอาทิตย์ ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีต่างก็มีขนาดใหญ่กว่าโลกด้วย ข้อมูลเหล่านี้ทำให้โลกดู “กระจอก” ไปในพริบตา แต่ Cassini ก็รู้อะไรผิดๆ หลายเรื่อง เช่น ไม่เชื่อทฤษฎีของ Copernicus ที่ว่า ดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของระบบสุริยะ และไม่เชื่อว่าแสงมีความเร็วตามที่ Ole Römer วัดได้ เพราะเขาเชื่อว่าความเร็วแสงมีค่ามากถึงอนันต์ เขาจึงมีความคิดผิดๆ หลายเรื่อง และมีอีกเรื่องหนึ่งที่ความคิดของ Cassini ได้ถูกลบล้าง นั่นคือ ในปี 1667 เขาได้กำหนดว่า เพราะฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางของโลกวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงต้องมีเส้นแวงที่ 0 องศา ลากผ่านหอดูดาวในกรุงปารีสที่มีเขาเป็นผู้อำนวยการ ก่อนนั้นในปี 1506 ซึ่งเป็นเวลาที่โปรตุเกสเป็นมหาอำนาจทางทะเล เส้นแวงที่ 0 องศาถูกกำหนดให้ลากผ่านหมู่เกาะ Madeira ของโปรตุเกส) แต่เมื่อถึงปี 1884 ซึ่งเป็นเวลาที่อังกฤษเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์บ้าง เส้นแวงที่ 0 องศาได้ถูกกำหนดให้ลากผ่านเมือง Greenwich ที่ยังเป็นที่ยอมรับกันจนทุกวันนี้
การค้นพบว่าดวงจันทร์ Enceladus และ Titan มีโอกาสจะมีสิ่งมีชีวิต ได้ทำให้ยาน Cassini ต้องพบจุดจบด้วยการพุ่งทำลายตนเอง เพราะ NASA ไม่ต้องการให้ยาน Cassini หลังจากที่หมดเชื้อเพลิงแล้วต้องเคว้งคว้างลอยไปในอวกาศ และอาจตกลงสู่ดวงจันทร์ทั้งสอง ซึ่งจะทำให้มันปนเปื้อนด้วยสิ่งมีชีวิตจากโลก
ในขั้นตอนของการฆ่าตัวตายนั้น NASA ได้ตั้งชื่อของเหตุการณ์ว่า Grand Finale โดยบังคับให้ยาน Cassini โคจรผ่านเข้าไปในบริเวณที่ว่างระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวน และพบว่า บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ๆ เกือบว่างเปล่า คือปราศจากอนุภาคใดๆ และตรวจพบว่า อนุภาคส่วนใหญ่ของวงแหวนเป็นผลึกน้ำแข็ง
ในการโคจรจำนวนหกรอบสุดท้าย Cassini ได้ทดลองให้กล้องโทรทรรศน์วิทยุบนโลกดักรับสัญญาณจาก Cassini ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (เพราะยานกำลังพุ่งเข้าหาโลก หรือหนีโลก) โดยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์และวงแหวน ในแผนการเดิม NASA ได้กำหนดให้ยาน Cassini โคจรอยู่ไกลจากดาวเสาร์มากคืออยู่นอกวงแหวนเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถแยกแยะอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์และจากวงแหวนที่ล้อมรอบดาว แต่เมื่อให้ยานโคจรอยู่ระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวน ข้อมูลที่ได้สามารถชี้บอกอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์และของวงแหวนแยกกันได้ ทำให้รู้อายุและมวลของวงแหวนว่าน้อยกว่า 100 ล้านปี และมีมวลไม่มาก วงแหวนจึงอาจเกิดจากการแตกแยกของดาวหางเวลาพุ่งชนดาวเสาร์ Cassini ยังได้พบว่าวงแหวนเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่สุดของดาวเสาร์ ประกอบด้วยก้อนน้ำแข็งขนาดเล็กนับพันล้านก้อน และยังได้พบอีกว่า การเคลื่อนที่ของบรรดาสนามแม่เหล็กมีความเข้มและโครงสร้างซับซ้อนนี้แสดงให้เห็นว่า ลึกลงไปในดาวมีของเหลวที่ไหลวน และสนามแม่เหล็กที่มีนี้ทำให้ขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวมีปรากฏการณ์แสงเหนือและแสงใต้
สะเก็ดก้อนน้ำแข็งสามารถทำให้วงแหวนมีรูปลักษณ์ไม่คงตัวคือเปลี่ยนรูปทรงได้ ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะแม้แต่ดวงจันทร์ Pan ที่มีขนาดเล็กที่สุดก็มีอิทธิพลต่อรูปร่างของวงแหวน โดยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง และ Prometheus ที่พบโดย S. Collins ในปี 1980 และมีขนาด 150 x 100 x 70 กิโลเมตรก็มีแรงโน้มถ่วงมากพอที่ทำให้ก้อนน้ำแข็งเล็กๆ จับกลุ่มกันเป็นก้อนขนาดใหญ่ ดังนั้นความหนาแน่นของวงแหวนจึงไม่สม่ำเสมอ
ข้อมูลที่ได้ในระยะสุดท้ายของการทำงาน แสดงให้เห็นว่าบริเวณผิวภายนอก และเนื้อภายในของดาวเสาร์หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วเชิงมุมที่แตกต่างกัน ลักษณะการหมุนเช่นนี้เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันในกรณีของดวงอาทิตย์ ดังนั้นจึงแตกต่างจากดาวพฤหัสบดีที่ทั้งผิวและเนื้อในหมุนไปด้วยความเร็วเชิงมุมเท่าๆ กัน ดาวเสาร์จึงแตกต่างจากดาวพฤหัสบดีมาก ทั้งๆ ที่ดาวทั้งสองดวงถือกำเนิดในเวลาไล่เลี่ยกัน
การโคจรใกล้บรรยากาศที่ห่อหุ้มดาวเสาร์ได้ช่วยให้อุปกรณ์ magnetometer บนยาน Cassini วัดความเข้มสนามแม่เหล็กของดาวเสาร์ได้อย่างอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก ดังได้กล่าวแล้วว่า องค์ประกอบหลักของดาวเสาร์เป็นแก๊สเหลว ที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วต่างกัน ดังนั้น การวัดเวลาหนึ่งวันบนดาวเสาร์ว่านานเท่าใด จึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์จึงหันมาใช้วิธีวัดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กแทน และพบว่า 1 วันบนดาวเสาร์นานตั้งแต่ 10.6 – 10.8 ชั่วโมง การวัดความเข้มสนามแม่เหล็กยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า แกนแม่เหล็กของดาวเสาร์ซ้อนทับกับแกนที่มันหมุนรอบตัวเองหรือไม่ และได้พบว่า แกนทั้งสองซ้อนทับเสมือนเป็นแกนเดียวกัน คือ ทำมุมกันประมาณ 0.015 องศา การที่สนามแม่เหล็กมีความเข้มและโครงสร้างซับซ้อนนี้แสดงให้เห็นว่า ลึกลงไปในดาวมีของเหลวที่ไหลวน และสนามแม่เหล็กที่มีนี้ทำให้ขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวมีปรากฏการณ์แสงเหนือและแสงใต้
ข้อมูลการวัดสนามโน้มถ่วง และสนามแม่เหล็กของดาวเสาร์ยังบอกให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า แก่นกลางของดาวเสาร์มีมวลเท่าใด และประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง นอกจากจะมี hydrogen และ helium แล้ว และนี่ก็คืองานที่จะต้องทำในอนาคต
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ ธรรมชาติของบรรยายกาศเหนือดาวเสาร์ ในปี 2010 ยาน Cassini ได้เห็นพายุ cyclone ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10,000 กิโลเมตรเกิดขึ้นบนดาวเสาร์ในทำนองเดียวกับพายุที่เกิดขึ้นบนดาวพฤหัสบดี และเห็นพายุรูปทรงหกเหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่ 30,000 กิโลเมตรตรงที่ขั้วเหนือของดาว แต่ไม่เห็นพายุลักษณะเดียวกันเกิดที่ขั้วใต้ของดาว
มรดกต่างๆ ที่ยาน Cassini ทิ้งไว้ และปริศนามากมายเกี่ยวกับดวงจันทร์บริวารเป็นภาระที่ยานอวกาศลำต่อไปจะต้องสำรวจและตอบให้ได้จึงมีดังนี้ นอกเหนือจาก Titan ที่ยานได้พบว่า มีบรรยากาศเป็นเมฆหมอกสีส้ม และสภาพภูมิศาสตร์ที่คล้ายโลกในยุคก่อนที่จะมีสิ่งมีชีวิต คือ มีเนินเขาที่มีน้ำแข็งปกคลุม และปกคลุมด้วยสาร hydrocarbon มีทะเล methane และฝน ethane มีแม่น้ำ และทะเลสาบ hydrocarbon เหลว ที่ลึกพอจะให้ยานอวกาศสามารถลงไปลอยสำรวจได้
ส่วน Enceladus ที่ได้พ่นน้ำพุที่มีเกลือปนออกมาในอัตรา 200 กิโลกรัม/วินาที และมีสาร silica ซึ่งเกิดจากอันตรกริยาระหว่างน้ำ กับหินใต้ทะเล ขณะมีอุณหภูมิสูง จึงอาจเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ใต้ทะเลที่สามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยแสงอาทิตย์ ข้อสงสัยนี้จึงทำให้ Enceladus เป็นดวงจันทร์ดวงแรกๆ ที่ยานอวกาศในอนาคตจะถูกส่งไปเยือนอย่างแน่นอน
สำหรับดวงจันทร์ Pan ที่ M. Showalter พบในปี 1990 นั้นมีรูปร่างเหมือนก้อนอาหารอิตาเลียนชื่อ ravioli ก็น่าสนใจ เพราะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 28 กิโลเมตร โคจรอยู๋ห่างจากดาวเสาร์ 133,600 กิโลเมตร และใช้เวลา 0.6 วันในการโคจรรอบดาวเสาร์
ด้านดวงจันทร์ Hyperion ที่พบโดย W.Bond และ W. Lassell ในปี 1848 นั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 14 กิโลเมตร โคจรอยู่ห่างจากดาวเสาร์ 1.48 ล้านกิโลเมตร และใช้เวลา 213 วันในการโคจ ผิวของดวงจันทร์นี้มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ
จึงเป็นว่าข้อมูลที่ได้รับจาก Cassini มีมากกว่าที่ได้จากยาน Voyage 1 และ 2 นับ 100 เท่า สำหรับให้นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์อีกหลายปี จนกระทั่งรู้ “หมด” และนั่นก็ถึงเวลาที่ NASA และ ESA จะส่งยานใหม่ไปดาวเสาร์อีก
แม้วันนี้ NASA จะยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะส่งยานไปเยือนดาวเสาร์อีกเมื่อใด ถ้าได้รับอนุมัติวันนี้การสร้างยานก็จะต้องใช้เวลาอีกร่วมสิบปี ดังนั้น การดับสูญของยาน Cassini จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะเวลา Cassini “จากไป” ความรู้สึกของคนหลายคนก็ “ไป”ด้วย
อ่านเพิ่มเติมจาก Planetary Sciences โดย I. de Peter และ J. Jack จัดพิมพ์โดย New York Cambridge University Press ปี 2015